โพลล์ ส.อ.ท.อ้อนรัฐตรึงค่า Ft ผ่อนภาระภาคอุตฯแบกต้นทุนค่าแรงสูง-วัตถุดิบแพง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2022 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ส.อ.ท.จึงได้สำรวจความเห็นในเรื่องดังกล่าวจากผู้บริหาร 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด จำนวน 171 รายพบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐคงค่า Ft งวดใหม่ไว้ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

เนื่องจากขณะนี้ราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทยอยปรับลดลงไปด้วย ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง ราคาวัตถุดิบ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งสิ้น

ส่วนการบริหารจัดการหนี้ที่ต้องทยอยคืน กฟผ.จากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจำนวน 83,010 ล้านบาทนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ เสนอว่า กฟผ.ควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สามารถรับภาระหนี้ได้มากขึ้นและยาวนานมากกว่า 2 ปี เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการหนี้และลดผลกระทบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงเกินไป

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังเสนอว่า ภาครัฐควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วงพีคอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการติดตั้งโซล่าเซลล์ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากเอกชน การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืนที่จูงใจต่อการลงทุน เป็นต้น

ขณะที่การบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศในอนาคต ผู้บริหาร ส.อ.ท.เสนอให้ภาครัฐมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบจากการทำนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งประชาชน ผู้ประกอบการภาคผลิตและบริการ รวมถึงผู้ลงทุน รวมทั้งปรับสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศและลดภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ