"แอปฯ เป๋าตัง" อีกหนึ่งช่องทางเตือนภัยข่าวลวงออนไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 8, 2022 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การบูรณาการบริการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ และการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"

ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชนและสาธารณชน ผ่านแอป "เป๋าตัง" ซึ่งบริหารจัดการโดยธนาคารกรุงไทย และปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน โดยจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์ และข่าวปลอม เพื่อป้องกันและยับยั้งก่อนเกิดปัญหาการถูกหลอกลวง ลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์

ด้านรูปแบบความร่วมมือ จะมีการพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (AFNC) ที่ดำเนินงานโดยกระทรวงดิจิทัลฯ ไปยังแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อให้มีการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางการเงิน หรืออาชญากรรมทางการเงิน (Financial Fraud) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชน เพื่อให้รับทราบทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ

"แอปเป๋าตัง จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริง ที่ผ่านการตรวจสอบยืนยันจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ในรูปแบบการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางการเงิน หรืออาชญากรรมทางการเงิน (Financial Fraud) ให้ทันต่อสถานการณ์และรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันและสามารถรับมือกับการหลอกลวงรูปแบบใหม่ที่ทวีความซับซ้อน และก่อความเสียหายรุนแรงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน" นายวิศิษฏ์ กล่าว

ด้านนายผยง กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (AFNC) ที่ดำเนินงานโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บนแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ซึ่งเป็น Thailand Open Digital Banking ที่คนไทยคุ้นเคย มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสารทางการเงินที่ถูกต้อง พร้อมแจ้งเตือนภัยกลโกง หรืออาชญากรรมทางการเงิน (Financial Fraud) ในรูปแบบต่าง ๆ ให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกง และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ในครั้งนี้เราได้พัฒนาการแจ้งเตือนข่าวผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน โดยเป็นการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฐานข้อมูลข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake News Center Thailand :AFNC) ที่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีการเผยแพร่เป็นการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกหลวงฉ้อโกงทางการเงินหรืออาชญากรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางออนไลน์และข่าวปลอมต่างๆอย่างเสมอ เพื่อลดการสูญเสียและไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และเพื่อเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับภาคประชาชนในการนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ในการขับเคลื่อนกลไกลต่างๆ ในการสร้างความเชื่อมั่นในด้านความมั่นคง ความปลอดภัยทั้งทางทรัพย์สิน สังคม และความยั่งยื่นต่อไปในอนาคต โดยในการดำเนินการในครั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยจะไม่หยุดนิ่ง ที่จะพัฒนาแอปพลิชั่นเป๋าตังนี้ต่อไป

ปัจจุบันมิจฉาชีพได้อาศัยเทคโนโลยี เป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์ในทางที่มิชอบในทุกรูปแบบ และมีการปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามยุคสมัย ทั้งภัยทางไซเบอร์ กลโกงทางเงิน เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ แม้ว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมมือกันเต็มกำลังเพื่อป้องกันระวังภัยดังกล่าว แต่ยังมีเหยื่อถูกหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการสร้างข่าวปลอม (Fake News) บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิด หลอกให้ประชาชนหลงเชื่อ

ดังนั้น การให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชนอย่างทั่วถึง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันภัยให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยสร้างเกราะป้องกันภัยทางการเงินให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าธนาคารกรุงไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และธนาคารกรุงไทยครั้งนี้ เพื่อให้บรรลุภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการบริการประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพบริการภาครัฐให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและไร้รอยต่อ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนกลไกการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ