จับตาภาคขนส่งโดดร่วมวงแก้โลกร้อน ปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 14, 2022 18:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนราว 20% ของการปลดปล่อยจากอุตสาหกรรมทั้งหมดของโลก รองจากอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและความร้อน ซึ่งภายหลังจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP-27) เมื่อเดือน พ.ย. 65 ที่ผ่านมา การลดมลพิษจากการขนส่งสินค้าทางถนนได้ถูกเน้นย้ำมากขึ้น สะท้อนได้จากการถูกจัดเข้าใน 5 อุตสาหกรรมที่ต้องมีแม่บทเพื่อเร่งการลดคาร์บอน โดยหนึ่งในแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งคือ แนวทางโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics)

แนวทางโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) หรือกระบวนการจัดการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี 64-73 สาขาคมนาคมขนส่ง ที่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรวม 41 MtCO2e หรือราว 55% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยเฉลี่ยใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 60-64) แบ่งเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง (เป้าหมาย 23 MtCO2e) 2. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานคมนาคมขนส่ง (8 MtCO2e) 3. มาตรการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในยานพาหนะ (10 MtCO2e)

"เรามองว่า ผู้ประกอบการขนส่งทางรถบรรทุก เป็นผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ต้องมีการจัดการกับมลพิษ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้" นายพชรพจน์ กล่าว

นายสุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนส่งทางรถบรรทุก ที่ปรับตัวเข้ากับแนวทาง Green Logistics นอกจากตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และลดความเสี่ยงทางการค้ากับคู่ค้าที่มีมาตรการทางสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้น โดยมี 3 แนวทางในการลด CO2 ได้แก่ 1. การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น น้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด โดยการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจาก B7 เป็น B20 สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อ ราว 9,500 คัน/ปี หรือรถบรรทุก 18 ล้อ ราว 5,550 คัน/ปี จะช่วยลดการปล่อย CO2 จำนวน 0.1 MtCO2 หรือ 1% ของมาตรการการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งมีเป้าหมาย 10 MtCO2e

2. การใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ซึ่งยังมีอุปสรรคในการใช้งาน ทั้งด้านขนาด ราคา และการใช้งานของอุปกรณ์ จึงคงต้องรอการปรับปรุงในอนาคต และ 3. การเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้า (ZEV) ที่แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีราคาที่สูง แต่ประเมินว่าผลประโยชน์สุทธิจากการใช้รถบรรทุก ZEV จะสามารถชดเชยส่วนต่างราคารถ และค่าใช้จ่ายในการใช้งานระหว่างรถ ZEV และรถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ภายใน 3-4 ปี

โดยในระยะข้างหน้า การสนับสนุนให้ใช้รถบรรทุก ZEV เฉลี่ยราวปีละ 3.76 หมื่นคัน จากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่คาดราวปีละ 5.1-6.6 หมื่นคันจากปัจจุบันจนถึงปี 73 จะทำให้การปลดปล่อย CO2 ในปี 73 ลดลงได้ราว 5 MtCO2e หรือราวครึ่งหนึ่งของเป้าหมายในการลด CO2 จากมาตรการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

น.ส.สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางและเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคขนส่งแล้ว ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจาก B7 เป็น B20 สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อ ราว 9,500 คัน/ปี หรือรถบรรทุก 18 ล้อ ราว 5,550 คัน/ปี จะมีส่วนช่วยรองรับอุปทานปาล์มน้ำมันในประเทศที่ใช้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นราว 37 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านบาท/ปี

ขณะที่การเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าจำนวนราว 3.76 หมื่นคัน/ปี จะทำให้มูลค่าตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าสะสมระหว่างปี 65-73 สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท เฉลี่ยราว 1.44 แสนล้านบาท/ปี นอกจากนี้ ภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชนสามารถใช้โอกาสนี้ในการต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ และการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ