แบงก์ชาติ ปักธง Smooth take off จับตาสัญญาณครึ่งหลังปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 19, 2022 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์ชาติ ปักธง Smooth take off จับตาสัญญาณครึ่งหลังปี 66

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่า ในช่วงปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของโลกปรับตัวขึ้นสูงมาก จากปัจจัยราคาพลังงานที่เป็นแรงกระแทกสำคัญ และทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเร็วและแรงอย่างพร้อมเพรียงกันมากสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งมีผลต่อเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ นำมาซึ่งการตึงตัวของภาวะการเงินโลก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกในปีนี้ชะลอตัวจากปีก่อน และเป็นการชะลอตัวมากสุดนับตั้งแต่ปี 2007 (พ.ศ.2550) ในขณะที่เศรษฐกิจของไทยในช่วงต้นปี เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยยังมีความเปราะบาง การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง แต่ระยะถัดมา เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายด้วยตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความอ่อนไหวน้อยต่อสถานการณ์ด้านต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยเน้นเฉพาะจุดแบบตรงกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับการเข้าไปดูแลค่าเงินในบางช่วง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถประคองตัวและเริ่มฟื้นกลับมาได้ดังเช่นในปัจจุบัน

ส่วนการจะกลับมาเห็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบภาวะปกติ (Policy Normalization) ได้ในช่วงใดนั้น นายปิติ กล่าวว่า คงยังไม่สามารถเจาะจงได้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ในปี 2566 ด้วย โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จึงอาจจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้กับจุดที่มีศักยภาพแล้วหรือยัง และเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ซึ่งหากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะ Smooth take off ก็ไม่จำเป็นที่แนวนโยบายการเงินจะต้องปรับแบบกระชาก หรือเปลี่ยนทิศทาง

"นโยบายการเงินแบบที่ กนง. ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ยังมีความจำเป็นต้องทำต่อไปอีกระยะ เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่อยู่ในจุดที่ทุกอย่างเข้าสู่สมดุล แต่ยังต้องดูแลทั้งด้านแรงกดดันที่มาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ" นายปิติ ระบุ

อย่างไรก็ดี มองว่ามี 2 ตัวแปรสำคัญ ที่อาจเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อในปีหน้าปรับตัวสูง หรือต่ำกว่าระดับ 3% ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 1. การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนการผลิตหลายด้านที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2. มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และค่าครองชีพอื่นๆ และ 3.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2565 และแนวโน้มว่า ในการประชุม กนง.ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.2% และจะค่อยๆ ปรับขึ้นไปเป็น 3.7% ในปี 66 และเป็น 3.9% ในปี 67

โดยมองว่าเศรษฐกิจในปีนี้และช่วงปีถัดๆ ไป จะมีแรงส่งที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่ง กนง.ยังได้ประเมินว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านคน ส่วนในปี 66 ขึ้นไปอยู่ที่ 22 ล้านคน และในปี 67 ที่ 31.5 ล้านคน ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนนั้น เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และรายได้ที่ปรับดีขึ้น จำนวนผู้ว่างงานในช่วงไตรมาส 3/65 และจำนวนชั่วโมงการทำงานในภาพรวมดีขึ้น ผู้ที่ไม่ได้ทำงานในช่วงก่อนหน้านี้ ได้เริ่มทยอยกลับเข้าทำงานโดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ

"การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนนี้ จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกได้...GDP อาจจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า" นายสักกะภพ ระบุ

ทั้งนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่ คือ เศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน ที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ในขณะที่ยังมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าที่คาดไว้ และจีนมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศได้เร็วกว่าคาด

ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในภาพรวมของปี 2565 ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่คาด โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ทยอยปรับขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของ MRR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ยังต่ำกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของ MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี) ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มเปราะบางของธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี จะเห็นได้จาก NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วงไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการลดลงทั้ง NPL ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 500 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจที่ขนาดไม่ถึง 500 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ