ดิ่งต่อ! ส่งออกพ.ย. ร่วง 6% ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2022 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดิ่งต่อ! ส่งออกพ.ย. ร่วง 6% ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน พ.ย.65 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 22,308 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 23,650 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เดือนพ.ย. ไทยขาดดุลการค้า 1,342 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.65) การส่งออกของไทย มีมูลค่า 265,349 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6% การนำเข้าของไทย มีมูลค่า 280,438 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.3% ส่งผลให้ 11 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 15,088 ล้านดอลลาร์

โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกของไทยในช่วงท้ายปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 66 คือ 1. ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 2. เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในแต่ละประเทศยังเป็นขาขึ้นไปจนถึงปีหน้า และ 3.ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่

สำหรับการส่งออกสินค้าในแต่ละกุล่มของเดือนพ.ย.65 เป็นดังนี้ 1. สินค้าเกษตร มีมูลค่า 1,985 ล้านดอลลาร์ ลดลง -4.5% โดยสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป , ผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง, สับปะรดสด, ทุเรียนสด และมะม่วงสด 2. สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,746 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1% โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ, ไอศกรีม, เครื่องดื่ม และ 3. สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 17,882 ล้านดอลลาร์ ลดลง -5.1% โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, อัญมณี และเครื่องประดับ

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของเดือนพ.ย. ใน 10 อันดับแรก มีดังนี้ อันดับ 1 อิรัก ขยายตัว 215.6% อันดับ 2 บาห์เรน ขยายตัว 153.1% อันดับ 3 ซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 10.1% อันดับ 4 สหราชอาณาจักร ขยายตัว 22.2% อันดับ 5 ลาว ขยายตัว 21.3% อันดับ 6 เบลเยียม ขยายตัว 11.4% อันดับ 7 เม็กซิโก ขยายตัว 10.5% อันดับ 8 เมียนมา ขยายตัว 3.7% อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 1.2% และอันดับ 10 อินเดีย ขยายตัว 0.7%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยเดือนพ.ย. และในช่วงปลายปี 65 ยังพอไปได้อยู่ คือ 1. การดำเนินการด้านการส่งเสริมการส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนผู้ส่งออก 2. ตลาดโลกยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตร และอาหาร 3. การเติบโตของเทคโนโลยี 5G และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และ 4.สถานการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลาย และมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยานยนต์กลับมาดีขึ้น

รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า แม้การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.65 จะยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนต.ค. แต่มีข้อสังเกตุว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. ยังมากกว่าเดือน ต.ค. ขณะที่มูลค่าการส่งออกรวม 11 เดือนแรกปีนี้ ก็สามารถทะลุเป้าหมายรวมทั้งปี 65 ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี สำหรับเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 66 นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอสรุปตัวเลขในเดือน ธ.ค.65 และต้องหารือกับภาคเอกชนผู้ส่งออกอีกครั้ง ก่อนที่จะกำหนดเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีหน้าอย่างเป็นทางการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ