ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยธ.ค.ฟื้นต่อเนื่อง จับตาจีนเปิดประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 29, 2022 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษก ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค.65 และระยะต่อไปว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมองว่าในช่วงไตรมาส 4/65 เศรษฐกิจไทยค่อนข้างจะเป็นไปตามทิศทางที่ได้คาดการณ์ไว้ และเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาส 3/65 โดยปัจจัยบวก เช่น ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยก็ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่ฝั่งปัจจัยลบ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1.อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว 2.การเปิดประเทศของจีน 3.การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า และ 4.ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

"ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 66 หากจัดลำดับ ตัวแรกคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รองลงมา คือ การเปิดประเทศของจีน แต่ปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยบวก และลำดับต่อมา คือ การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะส่งมาที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย" น.ส.ชญาวดี ระบุ

สำหรับการลดระดับมาตรการควบคุมโควิด และการประกาศเปิดประเทศของจีน ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.65 นั้น จะมีผลในด้านบวกต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปี 66 แน่นอน ซึ่งจากที่ ธปท.เคยประเมินไว้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีหน้าจะอยู่ที่ราว 22 ล้านคนนั้น อาจจะมีการทบทวนตัวเลขเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการประกาศในช่วงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนม.ค.66

"กรณีที่จีนจะเปิดประเทศ เราคาดว่าจะเป็น upside ซึ่งตัวเลขที่เราเคยประเมินไว้ เป็นแบบ conservative ดังนั้น จะต้องมาพิจารณาว่าการปลด inbound จะมีผลต่อ outbound อย่างไร เราจะประกาศใหม่อีกครั้งในต้นปี 66" น.ส.ชญาวดี กล่าว

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปี 66 ที่มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดไว้จากที่จีนจะเปิดประเทศ จะมีผลกับเศรษฐกิจไทยปีหน้าอย่างไรนั้น โฆษก ธปท. มองว่า ก็น่าจะเป็นผลในทางบวก แต่อย่างไรก็ดี ยังมีกรณีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย นอกจากนี้ เรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือสหรัฐอเมริกา-จีน ก็ยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องนำไปรวมไว้ในประมาณการเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เพราะปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว มีผลให้ราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ ธปท.ยังจับตาอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ