มหกรรม "ร่วมใจแก้หนี้" สำเร็จตามเป้า รัฐบาลลุยต่อ แก้หนี้ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2023 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหกรรม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ "มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ว่า การจัดมหกรรมในรูปแบบสัญจร รวม 5 ครั้ง ในกรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยในระยะต่อไปยังเดินหน้าดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1. มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สนับสนุนให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สิน และปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้จนถึงสิ้นปี 2566

2. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดช่องทางเสริม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ทางด่วนแก้หนี้, หมอหนี้เพื่อประชาชน และคลินิกแก้หนี้

3. ธปท. จะเผยแพร่เอกสาร (Directional Paper) ในเดือน ก.พ.66 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

นายอาคม กล่าวว่า จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ในกระบวนการแก้ไขหนี้ สถาบันการเงินได้มีการพิจารณาภาระของลูกหนี้แล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่มาก แม้จะเป็นการเพิ่มภาระให้ลูกหนี้ แต่การเจรจาในกระบวนการแก้ไขหนี้ ได้มีการพิจารณาถึงประเด็นนี้อยู่แล้ว ทั้งเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของสัญญาใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เงื่อนไขเดิม ขณะที่การปล่อยกู้ใหม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาขีดความสามารถในการชำระหนี้ ใช้หลักการผ่อนชำระให้ยาวที่สุดเท่าที่เงื่อนไขของสถาบันการเงินจะทำได้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ผลการจัดมหกรรมแก้หนี้ รูปแบบสัญจร 5 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา มีประชาชน และผู้ประกอบการ ขอรับบริการมากกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 24,000 ล้านบาท โดยการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ 13,000 รายการ คิดเป็นวงเงิน 2,900 ล้านบาท, การขอแก้ไขหนี้สินเดิม 10,000 รายการ วงเงิน 9,600 ล้านบาท, การขอสินเชื่อเพิ่มเติม 4,000 รายการ วงเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การฝากเงิน การตรวจสอบข้อมูลเครดิต เป็นต้น ราว 7,000 รายการ

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน ก.พ.66 แม้แบงก์รัฐได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ขึ้นในอัตราเล็กน้อย และได้คำนึงถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการแบ่งลูกหนี้เป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกค้าปัจจุบัน ซึ่งพิจารณาแล้วว่าดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น จะไม่กระทบกับเงินงวด โดยภาระยังเท่าเดิม แต่ระยะเวลาหนี้ยาวออกไป ส่วนกลุ่มหนี้เสีย ก็มีมาตรการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น และกลุ่มลูกหนี้ใหม่ที่กำลังขอสินเชื่อ ในส่วนนี้อาจจะได้รับวงเงินสินเชื่อจำกัด แต่ทั้ง 3 กลุ่มแบงก์รัฐได้มีการบริหารจัดการ และให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลการจัดมหกรรมแก้หนี้ ในรูปแบบออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้น มากกว่า 188,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากว่า 413,000 รายการ โดยในส่วนนี้ ได้มีการให้ความช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้วกว่า 50,000 รายการ และมีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแต่ไม่สามารถติดต่อได้ราว 100,000 รายการ และไม่เข้าเงื่อนไข, ไม่พบบัญชี, กรอกข้อมูลผิด หรือยกเลิกคำขอ ราว 100,000 รายการ โดยปัจจุบัน ยังเหลือลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนการแก้ไข หรือปรับโครงสร้างหนี้ราว 150,000 รายการ

โดยแบ่งเป็นลูกหนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 35%, ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31% และภาคอื่น ๆ อีกราว 34% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด โดยประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 75%, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6%, สินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ 5%, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 4% และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อีก 10%

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือและดูแล โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลให้การชำระหนี้ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการชำระหนี้

นายรณดล กล่าวว่า การแก้ไขหนี้ต้องทำอย่างยั่งยืน ครบวงจร ถูกหลัก มีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดย ธปท. เตรียมเผยแพร่เอกสาร (Directional Paper) เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก คือ 1. การปรับโครงสร้างหนี้เดิม ผลักดันลูกหนี้เรื้อรังให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ และ 2. ผลักดันหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพ โดยการหาแนวทางให้เจ้าหนี้ปล่อยกู้อย่างเป็นธรรม ดูแลลูกหนี้ให้ตอบโจทย์ให้เป็นการก่อหนี้ที่มีคุณภาพ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับลูกหนี้ เพื่อให้เกิดวินัยทางการเงิน และความรับผิดชอบ ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และต้องมีการวางรากฐานอื่น ๆ ในการพัฒนาฐานข้อมูลให้หลากหลาบเพื่อตอบโจทย์ความเสี่ยงของลูกหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ