ศูนย์วิจัยกสิกร คงคาด GDP ปีนี้โต 3.7% แม้ส่งออกหดเพิ่มแต่ท่องเที่ยวฟื้นดีพยุง,บาทยังผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 23, 2023 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกร คงคาด GDP ปีนี้โต 3.7% แม้ส่งออกหดเพิ่มแต่ท่องเที่ยวฟื้นดีพยุง,บาทยังผันผวน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการ GDP ปี 2566 นี้ที่ 3.7% แต่ปรับลดการส่งออกลงเหลือ -1.2% จากเดิม -0.5% ขณะที่สถานการณ์ท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสแรก โดยคาดว่าทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าจะอยู่ที่ราว 28.5 ล้านคน

ส่วนวิกฤตสถาบันการเงินในต่างประเทศนั้น มองว่ายังอยู่ในกรอบจำกัด

พร้อมมองแนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวนค่อนข้างมากต่อไปในไตรมาส 2/65 ท่ามกลางสถานการณ์ในต่างประเทศที่ยังไม่นิ่ง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ชะลอความแรงลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับลดประมาณการส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือ -1.2% จากเดิม ที่คาดว่าจะอยู่ที่ -0.5% นั้น เป็นการปรับลดลงตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากการส่งออกในเดือนม.ค.66 ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ทั้งปริมาณการส่งออกยังหดตัว และด้านราคายังชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีเหตุผลจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ด้วย ในขณะที่การเชื่อมโยงไปยังตลาดส่งออกประเทศอื่นๆ ยังมีไม่มากนัก โดยสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์, รถยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าในกลุ่มดังกล่าวนี้มีสัดส่วนถึง 30% ของการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐ น.ส.ณัฐพร กล่าวด้วยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปีนี้ลง เหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.2% เนื่องจากสัญญาณเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยมีผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง และค่าไฟฟ้ามีการปรับขึ้นน้อยกว่าที่ได้ประเมินไว้ "แม้จะปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติที่ระดับ 3% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศยังไม่ลดลงเท่าตลาดโลก และยังเห็นการส่งผ่านต้นทุนสินค้าจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภค และอุปสงค์ในประเทศจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ยังหนุนให้ราคาสินค้าคงตัวอยู่ในระดับสูง" น.ส.ณัฐพร กล่าว ซึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มปรับลดลง และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดเจนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้มาถึงจุดสูงสุดแล้วนั้น จึงทำให้มองว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 1.75% โดยเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% จะเป็น terminal rate สำหรับปีนี้แล้ว พร้อมระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อยู่ที่ปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มกลับมาตึงเครียดอีกรอบ สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่คงจะไม่มีออกมาเพิ่มเติมในช่วงนี้ไปปลายปีงบประมาณ 66 เนื่องจากอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการนั้น น.ส.ณัฐพร เชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากโดยหลักการแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มทยอยปรับลดลง หากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัว ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อยู่แล้ว ด้าน น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของสถาบันการเงินในต่างประเทศว่า วิกฤตธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐ มีโอกาสจะยืดเยื้อต่อ เนื่องจากตราบใดที่ธนาคารที่ถูกจับตามองยังไม่ได้แก้ปัญหางบดุล เช่น การกระจุกตัวของเงินฝาก หรือการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย ก็จะยังทำให้ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ นอกจากนี้ การที่ทางการสหรัฐฯ จะเข้ามาซื้อกิจการในธนาคารที่ประสบปัญหา คงต้องใช้เวลาในการตัดสินใจเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ธนาคารที่เป็นประเด็นก็อาจหลีกเลี่ยงการปิดตัวลงได้ยาก แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางชาติอื่นๆ เข้ามาดูแลสภาพคล่องของระบบได้อย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยยับยั้งไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกเหมือนเช่นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ สำหรับระยะถัดไป ต้องติดตามว่าทางการสหรัฐฯ จะปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลภาคธนาคารสหรัฐฯ ให้เข้มงวดขึ้นในธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กหรือไม่ ซึ่งหากมีการดำเนินการจริงในทางปฏิบัติ ก็อาจทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และจะกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารในกลุ่มดังกล่าวในระยะกลาง ส่วนผลกระทบของปัญหาวิกฤตธนาคารในต่างประเทศต่อในไทย น.ส.ธัญญลักษณ์ เชื่อว่า อยู่ในกรอบจำกัด เพราะธนาคารไทยมีโครงสร้างงบดุลที่กระจายตัวดีกว่า เช่น มีพอร์ตสินเชื่อที่ใหญ่กว่าเงินลงทุน พอร์ตสินเชื่อมีการกระจายตัวตามกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่ รวมถึงมีเงินฝากที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงหรือลูกค้าธุรกิจองค์กร เหมือนกับกรณีของธนาคารสหรัฐฯที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสภาพคล่องและเงินกองทุนในระดับสูง แข่งขันได้ในระดับสากล ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ