เลือกตั้ง'66: เปิด 11 อุตสาหกรรมรับอานิสงส์เม็ดเงินเลือกตั้ง หนุน GDP อุตฯ-MPI เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 28, 2023 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยเม็ดเงินเลือกตั้งปี 66 ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยมีแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. เงินส่วนแรก คือ เม็ดเงินที่มาจากงบประมาณในการจัดเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มูลค่า 5,945 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ กกต. จะใช้เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง เช่น ป้ายรณรงค์, เตรียมการเลือกตั้ง เช่น คูหา บัตร วิทยากร, อำนวยความสะดวก ณ วันเลือกตั้ง เช่น จ้างพนักงานหน้าคูหา และการตรวจสอบผลการเลือกตั้ง

อุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุด คือ 1. น้ำมันเชื้อเพลิง 2. สิ่งพิมพ์และการพิมพ์โฆษณา 3. ผลิตภัณฑ์เคมี (เม็ดพลาสติก และน้ำหมึก) 4. กระดาษ และ 5. อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ จะกระตุ้นใน GDP ภาคอุตสาหกรรม (GDP Manufacturing) เพิ่มขึ้น 3,054 ล้าน หรือ 0.03% และ MPI เพิ่มขึ้น 0.04%

2. เงินส่วนที่สอง คือ เม็ดเงินที่มาจากค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมือง

กกต. กำหนดไว้ให้สส.เขต สามารถใช้จ่ายหาเสียงได้ 1.9 ล้านบาท/คน และสส.บัญชีรายชื่อ ใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาท/พรรค ในส่วนของเงินก้อนนี้ พรรคการเมืองจะใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นค่าสมัครรับเลือกตั้ง, ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง, ค่าเสื้อผ้า, ค่าสื่อโฆษณา/ ป้าย, ค่าอุปกรณ์หาเสียง, ค่าเช่าสถานที่ปราศรัย, ค่ายานพาหนะเดินทาง และค่าอาหารเครื่องดื่ม โดยยอดค่าใช้จ่ายในกิจกรรมหาเสียงของพรรคการเมืองจะอยู่ที่ 21,664-30,368 ล้านบาท

ทั้งนี้ สามารถคำนวณเป็น 2 กรณี คือ 1. ค่าใช้จ่าย 21,664 ล้านบาท คิดจาก สส.เขต ลงสมัครเท่ากับปี 2562 โดยงบต่อคน 1.9 ล้านบาท และงบต่อพรรค 44 ล้านบาท และ 2. ค่าใช้จ่าย 33,368 ล้านบาท คิดจากสส.เขต ลงสมัครเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 14.3% คน จากตำแหน่งสส.เขต ที่เพิ่มจาก 350 เป็น 400 คน

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลเชิงบวกมากที่สุด คือ 1. อุปกรณ์วิทยุและเครื่องเสียง 2. เครื่องแต่งกายผลิตเพิ่มขึ้น 3. น้ำมันเชื้อเพลิง 4. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 5. สิ่งพิมพ์และการพิมพ์โฆษณา 6.อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดยเมื่อนำมาคำนวณ พบว่า เงินก้อนนี้กระตุ้น GDP Manufacturing เพิ่มขึ้น 34,821-48,808 ล้านบาท หรือ 0.3-0.4% และ MPI เพิ่มขึ้น 0.4-0.6%

ดังนั้น หากรวมเม็ดเงินทั้ง 2 ส่วน จากทั้ง กกต. และพรรคการเมือง จะสามารถกระตุ้น GDP Manufacturing ได้ 0.33-0.53% และกระตุ้น MPI ได้ 0.44-0.64%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ