ZoomIn: เอกชน หวังเห็นรัฐบาลใหม่เร่งฟอร์มทีม-ผสานนโยบายเด่น แก้ปัญหาตรงจุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 16, 2023 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาคธุรกิจประสานเสียงพร้อมรับรัฐบาลใหม่ ตั้งตารอความชัดเจนของนโยบายที่จะประกาศออกมาจะตอบโจทย์แก้ปัญหาประเทศ หวังเห็นการเปลี่ยนแปลง การกระตุ้นเศรษฐกิจ และเปิดกว้างให้ภาคเอกชนร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด แต่ห่วงเรื่องการใช้งบประมาณสำหรับนโนยายประชานิยมและนโยบายสวัสิดการ การแก้ปัญหาค่าแรงที่ต้องมองอย่างรอบด้าน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว ตามกรอบระยะเวลาของกฎหมาย เพราะทุกภาคส่วนจะได้เห็นหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ รวมไปถึงชุดนโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมาตามที่พรรคแกนนำจัดตั้งและพรรคร่วมได้ตกลงกัน ที่จะมีความชัดเจน ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศได้เป็นอย่างมาก

สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ที่พรรคก้าวไกล มีคะแนนเป็นอันดับ 1 นั้น ตามหลักการก็มีสิทธิที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน และครั้งนี้เราเห็นหลายพรรคการเมืองออกมาประกาศเจตนารมย์ว่าจะให้เกียรติพรรคการเมืองลำดับ 1 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน

แต่ตั้งข้อสังเกตในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงที่ชนะขาดแบบท่วมท้น ทำให้เห็นภาพของพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ทิ้งห่างกันไม่มาก ความเป็นไปได้ที่พรรคอันดับ 1 จะจับมือกับอันดับ 2 หรือ รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลในหลากหลายสูตร เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่วันนี้ทุกภาคส่วนอยากเห็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สามารถบริหารงานได้ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

ส่วนเรื่องนโยบายของพรรคแกนนำ และพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายสนั่น กล่าวว่า ต้องติดตามการพูดคุยและตกลงนโยบายของแต่ละพรรคก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของชุดนโยบายที่ออกมาชัดเจน แต่วันนี้หากดูจากพรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนอย่างก้าวไกล สิ่งที่เราเห็นคงเป็นประเด็นเรื่องการเร่งปฏิรูปกฎหมาย และนโยบายสวัสดิการต่างๆ

สำหรับในมุมมองภาคเอกชน มองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นภาพคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ตัวอย่างหลายประเทศก็มีผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนนาดา แต่สิ่งสำคัญคือการผสมผสานคนที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาช่วยบริหารประเทศ เช่นเดียวกับภาพของธุรกิจที่วันนี้เราจะเห็นได้ว่ามีนักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ

"ภาพการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลไม่ใช่พรรคการเมืองหน้าใหม่ในการเมืองไทย เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และพิสูจน์บทบาทเชิงการเมืองมามากพอสมควร หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงเข้มแข็ง และเข้ามาบริหารประเทศ ก็เชื่อว่าการทำงานของฝ่ายบริหาร จะสามารถขับเคลื่อนต่อไป" นายสนั่น ระบุ
          นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย ให้ความเห็นถึงการจับขั้วรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีฐานคะแนนจาก 2 พรรคสำคัญ คือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยว่า สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ของการจับขั้วตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ คือ การทำ MOU ร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้เห็นถึงแนวทางในการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากการจับขั้วตั้งรัฐบาลในอดีต ต้องรอดูว่าหน้าตา MOU จะเป็นอย่างไร ดูว่านโยบายเรือธงของ 2 พรรคใหญ่ จะทำอะไรบ้าง และทำช่วงไหน" นายพชรพจน์ กล่าว
          สิ่งที่รอดูคือ การผสมผสานนโยบายว่าจะเห็นการนำนโยบายที่เด่นๆ ของแต่ละพรรค มาใส่ไว้เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ เช่น กรณีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งพบว่าทั้ง 2 พรรคมีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรต้องปรับขึ้น แต่นโยบายนี้อาจจะไม่ใช่บทสรุปสุดท้ายจากฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น เพราะต้องขึ้นอยู่กับกลไกการตัดสินใจของคณะกรรมการไตรภาคีด้วย
          "พรรคการเมือง คงได้มองทุกอย่างเป็นภาพรวมแล้ว ไม่ได้มองเฉพาะจุด เชื่อว่าคงเดินสายคุยภาคธุรกิจแล้ว เพราะอยู่ๆ จะมาขึ้นค่าแรง โดยที่ไม่ได้ไปแก้ปัญหาต้นทุนอื่นๆ คงไม่ได้ เช่น ความไม่สะดวกในการทำธุรกิจ กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ถ้าเป็นเช่นนั้น ภาคธุรกิจก็คง suffer หากจะขึ้นแต่ค่าแรง เราหวังว่านโยบายรัฐบาลที่ออกมา คงจะเป็นแพคเกจว่า ถ้าค่าแรงจะขึ้น เพื่อตอบโจทย์อื่นๆ ของพรรคการเมืองที่ให้สัญญากับประชาชนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รายได้ที่ดีขึ้นแล้ว ก็ต้องให้ไตรภาคีเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงด้วย" นายพชรพจน์ กล่าว
          สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่ที่พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพื่อหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงินให้แก่คนทุกระบบนั้น ในขณะที่พรรคก้าวไกล ดูจะมุ่งไปที่นโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเป็นหลัก ดังนั้นต้องจับตาการผสมผสานนโยบายสำคัญที่แต่ละพรรคจะเลือกหยิบยกมาใช้ เพราะแต่ละนโยบายอาจต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก
          "เบื้องต้น 2 พรรค มอง priority การใช้เงินไม่ตรงกัน เพื่อไทยมองว่าต้องกระตุ้นใหญ่ในช่วงแรก แต่ก้าวไกลมองเรื่องสวัสดิการเป็นหลัก คงทำได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้า 1+2 คงจะเป็นแบบที่ทีดีอาร์ไอพูด ต้องใช้เงินเยอะ MOU คงจะบอกได้ว่าจะตกลงอย่างไร" นายพชรพจน์ กล่าว
          อย่างไรก็ดี สิ่งมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรต้องได้รับการแก้ไขคือ ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เนื่องจากหลายฝ่ายต่างเห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดลงจากอดีต ซึ่งอาจเป็นเพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเทคโนโลยียังล่าช้า ตลาดที่เล็กลง ดังนั้นหากรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนของไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เมื่อเวลาประสบปัญหาก็จะได้มีกำลังช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ลดการใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ และทำให้ภาครัฐสามารถนำงบประมาณไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น
          "เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องระยะยาว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะธุรกิจต้องแข่งขันทุกวัน...โจทย์นี้เป็นหลักเลย ความสามารถในการแข่งขัน จะกู้คืนมาได้อย่างไรบ้าง มุมมองจากหลายคน คือเรื่องกฎระเบียบ อะไรที่เป็นอุปสรรค ควรแก้ไข หรือทำให้ดีขึ้น ทำให้เร็วขึ้น ปลดล็อกให้ภาคธุรกิจได้ ก็คงจะตอบโจทย์เรื่องความสามารถในการแข่งขัน เพราะยิ่งธุรกิจแข่งขันได้ดีขึ้นเท่าไร การใช้เงินมาช่วยอุ้ม ก็น้อยลง ทำให้มีเงินไปทำนโยบายอื่นๆ ที่พรรคการเมืองอยากทำได้" นายพชรพจน์ กล่าว
          พร้อมกับทิ้งท้ายว่า การที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคมาร่วมรัฐบาลกัน คงต้องดูว่าการผสมผสานนโยบายแบบไหนจะตอบโจทย์สิ่งที่ทั้ง 2 พรรคได้รับมอบหมายมาจากประชาชน เพราะฐานเสียงของแต่ละพรรค อาจเป็นคนละกลุ่ม มีความต้องการต่างกัน คนนอกคงตอบไม่ได้ชัดว่านโยบายใครตอบโจทย์ได้มากกว่าหรือน้อยกว่ากัน ขึ้นกับสิ่งที่พรรคการเมืองนั้นๆ ได้สัมผัสมาจริง ซึ่งพรรคร่วมแต่ละพรรคต้องมาดีเบท มากางข้อมูลกัน ตรงนี้จะเป็น process ที่น่าสนใจ ว่าสุดท้ายนโยบายรัฐบาลจะสะท้อนความต้องการของประชาชนที่แท้จริงได้มากน้อยเพียงใด

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรได้มาก จนกว่าได้โฉมหน้าของทีมเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

"ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ารัฐบาลใหม่ดีหรือไม่ เราสามารถผ่านการเปลี่ยนแปลงมาได้โดยตลอด ทั้งการเลือกตั้งใหม่และการทำรัฐประหาร ซึ่งภาคเอกชนพร้อมทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" นายเกรียงไกร กล่าว

สิ่งที่คาดว่าภาคเอกชนจะเป็นกังวล คือ เรื่องที่จะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายปรับขึ้นทุกปี เริ่มทันที 450 บาท จากปกติจะต้องผ่านการพิจารณาของกลไกไตรภาคี เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ภาคบริการ และเอสเอ็มอี ซึ่งต้องสร้างสมดุลและพิจารณาในรายละเอียด แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายใหญ่

"การปรับขึ้นค่าแรง จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้ แต่ต้องดูว่าผู้ประกอบการแบ่งรับภาระไหวหรือไม่ ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือดูแลนายจ้างอย่างไร" นายเกรียงไกร กล่าว

ส่วนนโยบายประชานิยมที่เป็นการนำเงินไปแจกชาวบ้านจำนวนมากนั้น ต้องพิจารณาให้ดีถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ, โครงการมีความเป็นไปได้เพียงใด

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เคยทำข้อเสนอ 6 เรื่องที่เป็นความต้องการของภาคเอกชนส่งให้ทุกพรรคการเมือง เช่น การจัดหาแหล่งทุนให้เอสเอ็มอี, ราคาค่าพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

"ภาคเอกชน จะมีโอกาสได้พูดคุยกับทีมเศรษฐกิจ หลังจากจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว" นายเกรียงไกร กล่าว

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า อยากฝากให้รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด เช่น กรอ.พาณิชย์ ส่วน กรอ.พลังงาน ไม่สามารถดำเนินได้ทันก่อนยุบสภา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ