เงินเฟ้อ พ.ค. ชะลอเหลือ 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 6, 2023 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินเฟ้อ พ.ค. ชะลอเหลือ 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน พ.ค.66 เพิ่มขึ้น 0.53% โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งฐานในเดือน พ.ค.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.66) เพิ่มขึ้น 2.96%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนพ.ค.66 เพิ่มขึ้น 1.55% ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.98%

เงินเฟ้อ พ.ค. ชะลอเหลือ 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

"สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. คาดว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากเดือนพ.ค. เนื่องจากฐานค่อนข้างนิ่ง ตัวที่จะเหวี่ยง เช่น อาหารสด และพลังงาน ก็เริ่มเหวี่ยงในกรอบแคบแล้ว" นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค.นี้ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งสาเหตุสำคัญนอกจากเป็นเพราะการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคา ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพ.ค.65 อยู่ระดับสูงแล้ว ยังเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. ชะลอตัวค่อนข้างมาก

เงินเฟ้อ พ.ค. ชะลอเหลือ 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. แบ่งเป็น ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลง มาจาก 1.การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน 2.ฐานราคาในเดือนมิ.ย.65 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างสูง 3.มาตรการลดค่าครองชีพ และการกำกับดูแลราคาสินค้า-บริการของภาครัฐ

ขณะที่ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดไว้ มาจาก 1.ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปริมาณฝนที่คาดว่าจะน้อยกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร 2. อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และ 3.ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

"เดือนถัดๆ ไป เงินเฟ้อก็มีโอกาสที่จะทรงๆ ตัวอยู่ในระดับนี้ ถ้าราคาน้ำมันทรงตัว หรือต่ำกว่านี้ เงินเฟ้อก็อาจจะต่ำกว่า 0.5% ได้" รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าว

นายวิชานัน ระบุว่า จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ จึงคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยแต่ละไตรมาสจากนี้ไป คือ ไตรมาส 3 ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะอยู่ในระดับ 1% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ กระทรวงพาณิชย์ ก็จะมีการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปี 66 ใหม่อีกครั้งในการแถลงเดือนหน้า จากปัจจุบันกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 66 ไว้ที่ 1.7-2.7% หรือค่ากลางที่ 2.2%

"คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะอยู่ที่ประมาณ 1% นิดๆ ส่วนไตรมาส 3 ก็น่าจะต่ำกว่าไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ก็จะต่ำว่าไตรมาส 3 ดังนั้น ทั้งปี ก็คงต้องปรับเป้ากันใหม่ เพราะเรื่องราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เล็กน้อย ขอรอดูความชัดเจนอีก 20-30 วัน ว่าจะต้องเน้นในเรื่องของ Supply หรือ recession มากกว่ากัน" นายวิชานัน ระบุ

อย่างไรก็ดี แม้เงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวลดลง แต่ก็ยังไม่ถึงกับติดลบ เพราะความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะติดลบนั้น ต้องมาจากการที่รัฐบาลใช้ยาแรงมากในมาตราการช่วยเหลือค่าครองชีพต่างๆ ไม่ว่าจะลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน จากผลของราคาน้ำมันโลกที่ลดลงอย่างแรง ซึ่งหากเกิดภาวะนั้น ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบได้ แต่ขณะที่ยังมองไม่เห็นโอกาสนั้น ขณะเดียวกัน ก็ไม่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะกลับขึ้นไปอยู่ที่ 3-4% เหมือนปีที่ผ่านมา

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วันนั้น นายวิชานัน ระบุว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นการปรับขึ้นเป็น 450 บาท/วัน ในครั้งเดียว แต่น่าจะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดมากกว่า ทั้งนี้ เรื่องค่าแรง ไม่ได้เป็นปัจจัยตรงที่อยู่ในโครงสร้างเงินเฟ้อ แต่จะแฝงอยู่ในราคาสินค้าและบริการต่างๆ ดังนั้น หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจริง ก็คงจะเป็นผลกระทบในทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อในทันทีทันใด

"การปรับขึ้นค่าแรง เราไม่เชื่อว่าจะปรับขึ้นเป็น 450 ในทีเดียว น่าจะค่อยๆ ขึ้นแบบขั้นบันได เพราะมีกลไกคณะกรรมการไตรภาคีอยู่ ถ้าค่าแรงขึ้นจริง ก็น่าจะส่งผลทางอ้อมกับค่าบริการ อาหารตามสั่ง เพราะในโครงสร้างเงินเฟ้อ ไม่ได้มีเรื่องค่าแรงอยู่ตรงๆ แต่มันจะไปแฝงอยู่ในราคาสินค้า บริการต่างๆ" นายวิชานัน ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ