คลังแจงแนวทางจัดซื้อจัดจ้าง กรณีใช้งบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 12, 2023 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลังแจงแนวทางจัดซื้อจัดจ้าง กรณีใช้งบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ต.ค.66 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงได้ซักซ้อมความเข้าใจ แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในกรณีที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ออกใช้ไม่ทัน

ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 บัญญัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนด ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถก่อหนี้ผูกพัน และเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะกรรมการวินิจฉัยฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซ้อมความเข้าใจในการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง กรณีการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน ดังนี้

คลังแจงแนวทางจัดซื้อจัดจ้าง กรณีใช้งบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน

1. สำนักงบประมาณ กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย หรือก่อหนี้ผูกพันในไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เฉพาะเดือนเมษายน และเดือนพ.ค.ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (วันที่ 1 ต.ค.66 - 31 พ.ค.67) เว้นแต่รายจ่ายประจำที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ผูกพัน 12 เดือน ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามที่ต้องดำเนินการจริง โดยจำแนกเป็นรายเดือน ส่งให้สำนักงบประมาณอย่างช้าภายในวันที่ 15 กันยายน 2566

เมื่อสำนักงบประมาณ เห็นชอบแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานของรัฐแล้ว ย่อมถือว่าหน่วยงานของรัฐได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และสามารถประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีได้

2. หลังจากประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐ รีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนและขั้นตอนของระเบียบฯ ไปจนถึงขั้นตอนการประกาศผลผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง หรือผู้ได้รับการคัดเลือก เพื่อให้พร้อมทำสัญญาหรือข้อตกลงได้ทันที

และเมื่อสำนักงบประมาณ อนุมัติจัดสรรเงินให้แก่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนแล้ว หน่วยงานของรัฐ จึงจะสามารถก่อหนี้ผูกพันภายในวงเงินที่รับทราบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ