ดัชนี MPI ต.ค. หดตัวต่อเนื่อง รับศก.ฟื้นช้า-ท่องเที่ยวพลาดเป้า, ทั้งปีส่อติดลบมากกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 30, 2023 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนี MPI ต.ค. หดตัวต่อเนื่อง รับศก.ฟื้นช้า-ท่องเที่ยวพลาดเป้า, ทั้งปีส่อติดลบมากกว่าคาด

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.66 อยู่ที่ระดับ 89.38 ลดลง 4.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 66 หดตัว 5.04% เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากนโยบายของประเทศจีนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และนโยบายจีนฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค.66 ยังขยายตัวจากฐานต่ำของปีก่อน ซึ่งยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การส่งออกต่อไป

ดัชนี MPI ต.ค. หดตัวต่อเนื่อง รับศก.ฟื้นช้า-ท่องเที่ยวพลาดเป้า, ทั้งปีส่อติดลบมากกว่าคาด

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ต.ค.อยู่ที่ 56.83% และช่วง 10 เดือนแรกอยู่ที่ 59.53%

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนี MPI ในเดือน ต.ค.66 ปรับตัวลดลง ได้แก่

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ หดตัว 7.43% จากความต้องการรถบรรทุกปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็กในประเทศหดตัวเนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการชะลอการตัดสินใจเพื่อรอรับส่วนลดในงานมหกรรมยานยนต์
  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หดตัว 17.48% ความต้องการในตลาดโลกชะลอตัว ผลของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องชะลอคำสั่งซื้อหรือย้ายฐานการผลิต

-อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ หดตัว 32.89% ความต้องการใช้ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี รวมถึงความต้องการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI ในเดือน ต.ค.66 ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัว 22.48% จากการผลิตสินค้าในกลุ่มที่ใช้สำหรับการเดินทางเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเครื่องบิน จากกิจกรรมการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน
  • พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัว 12.49% โดยการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ปีก่อนความต้องการในกลุ่มเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นลดลง ทำให้ผู้ผลิตหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในช่วงปีก่อน
  • สายไฟและเคเบิลอื่นๆ ขยายตัว 43.78% จากสายไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากยังคงมีคำสั่งซื้อจากการไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีความต้องการจากภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น
  • เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัว 19.09% จากจี้ แหวน สร้อย และต่างหู เป็นหลัก จากการผลิตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
  • เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัว 19.16% จากการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษคราฟท์ เนื่องจากในปีก่อนวัตถุดิบมีราคาสูง ผู้ผลิตจึงปรับลดการผลิตลง โดยในปีนี้การผลิตเริ่มกลับมาเป็นปกติ รวมทั้งผู้ผลิตบางรายเร่งผลิตเพื่อสำรองสินค้า เนื่องจากมีแผนการหยุดซ่อมบำรุงในเดือนหน้า
*เฝ้าระวังปัจจัยในประเทศเดือนพ.ย.

สำหรับระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน พ.ย.66 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลงจากปัจจัยภายในประเทศ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยปรับลดลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้าชะลอตัวในช่วงขาลง และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดือนก่อน ตามความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

โดยขณะนี้ สศอ.อยู่ระหว่างประเมินทิศทางของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ปรับเปลี่ยนจากยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าจะแถลงผลศึกษาดังกล่าวได้ในเดือนหน้า

*ปรับคาดการณ์ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 66-67

สศอ.ได้ประมาณการดัชนี MPI ปี 66 หดตัว 4.8% ด้าน GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 หดตัว 3.0% จากก่อนหน้าคาด MPI -2.8 ถึง -3.8% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม -1.5 ถึง -2.5%

ส่วนปี 67 คาดดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 67 จะขยายตัว 2.0-3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยาวนานและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้าง อีกทั้งต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากระดับราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง กดดันภาคการผลิตและกำลังซื้อผู้บริโภค และความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ