"กิตติรัตน์" วอนลูกหนี้-เจ้าหนี้นอกระบบเร่งลงทะเบียน-ขู่แบงก์ไม่ร่วมเครดิตแก้หนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 12, 2024 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบว่า ขอเรียกร้องให้ลูกหนี้นอกระบบ มีความกล้าหาญในการมาลงทะเบียนตามจุดรับลงทะเบียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ หากไม่มีความกล้าหาญรัฐบาลก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ตามความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี จึงขอให้มั่นใจว่าการมาลงทะเบียน ถือเป็นการยืนยันว่าลูกหนี้จะได้รับการคุ้มครอง ดูแล และแก้ไข

ขณะนี้มีจำนวนลูกหนี้นอกระบบ ที่ไม่มาลงทะเบียนอีกประมาณ 4 แสนราย จึงอยากให้ลูกหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียนเพื่อที่รัฐจะได้ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนที่จ่ายดอกมากกว่า 10-20% ต่อเดือน

ขณะเดียวกันขอเรียกร้องให้เจ้าหนี้ได้เข้ามาร่วมลงทะเบียนด้วย เพราะหน้าที่รัฐจะคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย

"ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องใช้หนี้ที่ยืมมา แต่ไม่มีหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งเจ้าหนี้อาจยังไม่ได้รับชำระหนี้จำนวนเงินต้นที่มีอยู่ ดังนั้นเจ้าหนี้จะได้รับความคุ้มครองจากกลไกในการลงทะเบียนด้วยเช่นกัน หนี้นอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยจำนวนมากๆ ในอัตราสูงท่วมเงินต้น ควรจะถือว่าจบกันแล้ว การที่เจ้าหนี้ยังคงคิดว่าจะเรียกร้องดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย" นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับหนี้ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ที่จัดสินเชื่อสวัสดิการให้กับข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงมาในระดับที่เหมาะสมกับความเสี่ยง โดยอยู่ที่ 4.75% และเชื่อว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง จะให้ความร่วมมือลดอัตราดอกเบี้ยลง และข้าราชการจะได้มีเงินเหลือเพียงพอกับการดำรงชีพ ไม่น้อยกว่า 30% ทั้งนี้ หลายส่วนราชการกำลังดำเนินการที่จะประกาศในลักษณะเดียวกัน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีหรือข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องขอบคุณคณะกรรมการและสหกรณ์ที่ให้ความร่วมมือ

ส่วนที่เป็นธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินบางแห่ง ที่ได้ร่วมให้สินเชื่อสวัสดิการกับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ก็พบว่ามีความคืบหน้า นำไปสู่อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต่ำ ซึ่งตนมั่นใจว่าข้าราชการทั้งหมด จะมีเงินเหลือหลังจากชำระหนี้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต

นายกิตติรัตน์ ได้ขอบคุณธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ที่ให้ความร่วมมือกับแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีกลไกที่เรียกว่า "คลินิกแก้หนี้" ทำให้ลูกหนี้สามารถกำหนดเงินต้น และผ่อนชำระคืนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน 3-5% แต่ยอมรับว่า ยังมีสถาบันการเงินและธนาคารบางแห่ง ยังไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าเครดิตแก้หนี้ ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อไป เพื่อขอร้องให้สถาบันการเงินเหล่านั้นมาให้ความร่วมมือเหมือนกับสถาบันการเงินอื่นๆ

สำหรับการกำหนดค่าผ่อนชำระต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีระเบียบข้อกำหนดในการชำระหนี้ ซึ่งไม่ใช่ชำระแต่ดอกเบี้ยไปตลอด แต่ยอดเงินต้นจะต้องปรับลดลงด้วย ขณะที่บางธนาคารไม่ยอมตัดเงินต้น แต่ตัดเฉพาะดอกเบี้ยนั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ธปท.จะต้องเอาผิดกับธนาคารนั้นๆ แต่หาก ธปท.ไม่เอาผิด ก็ถือว่า ธปท.มีความผิด

"ในเมื่อ ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแล ก็ต้องไปกำกับ ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าผิด เพราะวันนี้ถือว่าได้เตือนไว้แล้ว" นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมยืนยันว่า การแก้ปัญหาหนี้มีความคืบหน้าในทุกภาคส่วน สถานะลูกหนี้ที่เป็น NPL ลดลง ซึ่งคณะทำงานยังคงทำงานอย่างเต็มที่ไม่เว้นวันหยุด เพื่อทำให้ความคืบหน้านี้บรรลุเป้าหมาย จนกระทั่งการแก้ไขหนี้ทั้งระบบเบ็ดเสร็จภายในระยะเวลาของรัฐบาล

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ รหัส 21 นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อใกล้จะครบระยะเวลากำหนดในการปิดหนี้ ตามเงื่อนไขเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลเดิมที่ช่วยและรับผิดชอบ NPL ให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งข้อมูลปัจจุบันอยู่ที่ 630,000 ราย แต่ว่าไม่เกินกลางปีนี้ จะชำระคืนได้เบ็ดเสร็จ 1.1 ล้านราย เพราะขณะนี้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการอยู่ แต่ระหว่างนี้ก็จะมีเพิ่มขึ้น

ด้านายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแก้หนี้นอกระบบนั้น ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินตั้งแต่ 20,000-500,000 บาท ในการดูแลลูกหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ สามารถช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว 90,000 ราย วงเงินรวมกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ธนาคารของรัฐ จะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น และทั้ง 2 ธนาคาร ยังมีโครงการฝึกอาชีพควบคู่กับการให้สินเชื่อด้วย

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ระยะยาว จะต้องมีการให้ความรู้ทางการเงินในทุกช่วงวัย มีการสร้างวินัยทางการเงิน ยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจ SME ให้มีการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และต้องดูแลให้สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

ขณะที่ปัญหาหนี้เรื้อรังนั้น การแก้ไขคงไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลารวดเร็ว แต่วันนี้ความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งลูกหนี้มีช่องทางแก้ไขปัญหาหลายช่องทาง จึงขอให้ลูกหนี้แสดงความสมัครใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ บริหารการเงินของตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ