ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ม.ค.เพิ่มเล็กน้อย ปัจจัยบวก-ลบเสมอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 13, 2024 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ม.ค.เพิ่มเล็กน้อย ปัจจัยบวก-ลบเสมอตัว

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนม.ค. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 ม.ค. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 54.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 54.7 ในเดือนธ.ค. 66

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.2
  • ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.7
  • ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 57.3
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.4
  • ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.7
  • ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.7
ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ม.ค.เพิ่มเล็กน้อย ปัจจัยบวก-ลบเสมอตัว

ปัจจัยบวก ได้แก่

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 67 เช่น มาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 67

2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นในช่วงของเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น

3. การยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยวให้กับบางประเทศ เป็นการช่วยลดค่าครองชีพในการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีขึ้น

4. ภาคท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศเริ่มดีขึ้น ผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา

5. การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. 66 ขยายตัว 4.7% มูลค่าอยู่ที่ 22,791.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 3.1% มีมูลค่าอยู่ที่ 21,818.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 972.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

6. ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว โดยอยู่ที่ระดับ 29.94 บาท/ลิตร ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67

7. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยลบ ได้แก่

1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 โดยคาดว่าจะขยายตัว 1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ส่วนในปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8%

2. ความกังวลสถานการณ์ตะวันออกกลาง จากกองกำลังอิสราเอลที่ยังคงทำการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา ซึ่งอาจจะยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาน้ำมัน และพลังงานโลกยังทรงตัวสูง

3. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป

4. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่สูดหายใจเข้าไป

5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 34.976 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 66 เป็น 35.186 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

6. SET Index เดือน ม.ค. 67 ปรับตัวลดลง 51.33 จุด จาก 1,415.85 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 66 เป็น 1,364.52 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67

7. ความกังวลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่อาจมีความล่าช้า และความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ

8. ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว และกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค

9. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.30 บาท/ลิตร อยู่ที่ระดับ 35.78 และ 37.55 บาท/ลิตร ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่

  • มาตรการจัดการแก้ไขบริหารการใช้น้ำให้เหมาะสมต่อภาคการเกษตร และการบริโภคของประชาชน
  • การแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากร โดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อเลี่ยงภาษี ทำให้สินค้าราคาถูก รวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้ามากระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้
  • การผ่อนปรนเงื่อนไขในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และสภาพคล่อง
  • นโยบายการช่วยเพิ่มศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจเอกชน ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ