ย้ำเงื่อนไขรับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ที่ "ประชาชน-ร้านค้า" ต้องรู้!

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 23, 2024 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 เม.ย. 67 มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67

โดยโครงการดังกล่าว รัฐบาลมุ่งหวังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชน มีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

  • กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่าย:

(1) ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก

(2) ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า

  • ประเภทสินค้า: สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ซึ่งได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ

  • คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ:

ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้

(1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)

(2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

(3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

  • การจัดทำระบบ: พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop
  • แหล่งเงิน: มีแนวทางเกี่ยวกับแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการฯ รวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ได้แก่ (1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท (2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท และ (3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท
  • ระยะเวลาการดำเนินโครงการ: เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินโครงการฯ ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569
  • การป้องกันการทุจริต: มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ