ส่งออกมี.ค.ร่วง 10.9% พลิกหดตัวในรอบ 8 เดือน เหตุเทียบฐานสูงปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2024 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออกมี.ค.ร่วง 10.9% พลิกหดตัวในรอบ 8 เดือน เหตุเทียบฐานสูงปีก่อน

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมี.ค.67 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 66 จากตลาดคาดหดตัว 4.0-5.9% โดยเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

สาเหตุสำคัญที่การส่งออกในเดือนมี.ค.นี้ลดลง เนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงในเดือนมี.ค.66 ประกอบปีนี้สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนชะลอออกสู่ตลาดไปเป็นเดือนเม.ย. ซึ่งต่างจากในเดือนมี.ค.66 ที่ปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมาก

ส่งออกมี.ค.ร่วง 10.9% พลิกหดตัวในรอบ 8 เดือน เหตุเทียบฐานสูงปีก่อน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าจะพบว่าเดือนมี.ค.67 การส่งออกมีมูลค่าสูงถึงระดับ 24,960 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ดังนั้น การที่ส่งออกในเดือนมี.ค.ที่ติดลบ 10.9% จึงไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด และเชื่อว่าในเดือนเม.ย.67 มูลค่าการส่งออกจะกลับไปเป็นบวกได้อย่างแน่นอน

"เดือนมี.ค. มูลค่าการส่งออกถือว่ายังสูงที่ระดับ 24,690 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่เดือนละ 21,800 ล้านดอลลาร์ แต่ที่หดตัวถึง 10% เพราะมาจากฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเชื่อว่าเม.ย. จะเป็นบวกแน่นอน" นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ส่วนการนำเข้าเดือนมี.ค.67 มีมูลค่า 26,128 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% ส่งผลให้ในเดือนมี.ค.นี้ ไทยขาดดุลการค้า 1,163 ล้านดอลลาร์

ขณะที่การส่งออกของไทยในไตรมาส 1/67 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่ารวม 70,995 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% การนำเข้า มีมูลค่า 75,470 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าในไตรมาส 1/67 ที่ 4,475 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 67 ไว้ที่ 1-2%

*ส่งออกรายกลุ่มสินค้า

ทั้งนี้ หากแยกการส่งออกสินค้าเป็นรายกลุ่ม จะพบว่า กลุ่มสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,196 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.1% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี คือ ข้าว และยางพารา ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร ไตรมาส 1/67 มีมูลค่า 6,290 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.8%

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,103 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม, อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ไตรมาส 1/67 มีมูลค่า 5,588 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.0%

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 19,813 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.3% หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ไตรมาส 1/67 มีมูลค่า 56,645 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.3%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยที่ขยายตัวได้ดีในเดือนมี.ค.67 ได้แก่ อันดับ 1 รัสเซีย ขยายตัว 38.7% อันดับ 2 กัมพูชา ขยายตัว 21% อันดับ 3 ออสเตรเลีย ขยายตัว 13.5% อันดับ 4 ลาว ขยายตัว 7.9% อันดับ 5 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 5.6% อันดับ 6 ฮ่องกง ขยายตัว 5.3% อันดับ 7 ปากีสถาน ขยายตัว 3.7% อันดับ 8 ซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 2.6% อันดับ 9 สหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% และอันดับ 10 แคนาดา ขยายตัว 1.8%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ยังช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย คือ ประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการสต็อกสินค้า เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และกิจกรรมภาคบริการ ส่วนปัจจัยกดดันการส่งออก ได้แก่ การส่งสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ ได้รับผลกระทบจากภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฐานที่สูงของเดือนเดียวกันในปีก่อน

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่น และสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก, ความผันผวนของราคาพลังงาน การขนส่งสินค้า ซึ่งมีผลต่อการบริหารจัดการต้นทุนของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัญหาความขัดแย้งภายในของเมียนมา ซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ด่านแม่สอด ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% ในการทำการค้าชายแดนกับเมียนมา

*มั่นใจทั้งปีส่งออกได้ตามเป้า 1-2%

ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2567 โดยคาดว่าจะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก และภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง สำหรับภาคการผลิตโลกยังคงทยอยฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ในการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ ๆ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ฟื้นตัวล่าช้า

ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศ เพื่อหาแนวทางลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

อย่างไรก็ดี หากในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ (เม.ย.-ธ.ค.) มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือน สามารถทำได้ 24,046 ล้านดอลลาร์/เดือน จะทำให้การส่งออกทั้งปีเติบโตได้ 1% แต่หากสามารถทำได้ถึง 24,362 ล้านดอลลาร์/เดือน การส่งออกก็จะขยายตัวได้ 2% ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ ยังคงประมาณการส่งออกทั้งปี 2567 ไว้ที่ 1-2%

*เอกชน ชี้บาทอ่อนหนุนส่งออก Q2 โต 2%

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การที่ตัวเลขส่งออกไทยในเดือนมี.ค.67 ติดลบมากถึง 10.9% ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องกังวล เพราะเป็นการเทียบกับฐานที่สูงในเดือนมี.ค.66 ที่เดือนนั้นมีการส่งออกทุเรียนได้มาก แต่ปีนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนเม.ย. เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แค่ผลผลิตชะลอออกไป หากมองภาพรวมการส่งออกทั้งไตรมาส 1 ก็ถือว่าไม่ได้มีปัญหา ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า

"จุดสังเกตคือ ทุเรียน ที่ปีก่อนเก็บเกี่ยวเดือนมี.ค. แต่ปีนี้ต้องเลื่อนไปเม.ย. จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกผลไม้ชะลอออกไป แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เป็นแค่เรื่องของระยะเวลาเท่านั้น การส่งออกอื่นๆ ยังเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การส่งออกไทยยังขับเคลื่อนได้" ประธาน สรท.กล่าว

สำหรับทิศทางการส่งออกในไตรมาส 2/67 นั้น ภาคเอกชนยังมองเป็นบวก โดยคาดว่าจะมีมูลค่าราว 71,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพราะในเดือนเม.ย. เงินบาทอ่อนค่าอยู่ในช่วง 36-37 บาท/ดอลลาร์ นอกจากนี้ สถานการณ์ของจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือกลับสู่ปกติแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 นี้ จะยังสามารถขับเคลื่อนได้ และเติบโตเป็นบวกได้ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะขยายตัวได้ 2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ