CONSENSUS: GDP ไทยไร้แรงส่ง ฉุด Q1/67 โตต่ำ จับตาสัญญาณฟื้น?

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 17, 2024 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะแถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1/2567 อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่งหลายสำนักมองว่า ตัวเลขในไตรมาสนี้น่าจะอ่อนแอ เนื่องจากมีเพียง "ท่องเที่ยว" เป็นเครื่องยนต์เดียวที่ขับเคลื่อน ขณะที่ส่งออกยังหดตัว การใช้จ่ายในประเทศ การบริโภค การลงทุน ยังชะลอตัว เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้

ขณะที่ มองว่า ในระยะต่อไปหากงบประมาณของภาครัฐเริ่มทยอยออกมา จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ตหากออกได้เร็วก็จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม

              ประมาณการ GDP ไตรมาส 1/67
          สถาบัน                    คาดการณ์ YoY
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย            < 1%
          กรุงไทย                   0.9%
          บล.เคจีไอ                 0.9%
          บล.เอเซียพลัส              0.7%
          บล.กรุงศรีฯ                0.5%
*ส่งออก กดดัน GDP ไตรมาส 1/67 โตไม่ถึง 1%

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 1% โดยได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัยทั้งเรื่องการส่งออกที่ยังติดลบ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกไทยไตรมาส 1 หดตัว 0.2% นอกจากนี้ ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนก็เริ่มชะลอตัว หลังจากสิ้นสุดมาตรการ Easy e-receipt รวมถึงยอดขายรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะที่ลดลง และสุดท้าย คือ งบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

"เราได้ทบทวนตัวเลขล่าสุด หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนแต่ละตัวออกมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก 3 เดือนแรกที่ยังติดลบ การบริโภค ที่คนได้รีบจับจ่ายไปแล้วในช่วงมีมาตรการ Easy e-receipt พอผลตรงนี้หมด การใช้จ่ายครัวเรือนก็ drop ลงทุกรายการ ยอดขายรถก็ไม่ดี โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายได้ ประกอบกับไตรมาสแรก ยังไม่มีงบประมาณของรัฐออกมา เราคาดว่า GDP ไตรมาส 1 น่าจะโตต่ำกว่า 1%" รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 นั้น น.ส.ณัฐพร มองว่า GDP มีโอกาสจะขยายตัวได้ราว 2-2.5% ซึ่งจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากผลของการที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่เชื่อว่าสถานการณ์ส่งออกจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ โดยคาดว่าทั้งปี การส่งออกไทยจะขยายตัวราว 2% โดยเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้เริ่มมีการใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้นั้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงต้องขอดูเงื่อนไข ตลอดจนข้อจำกัดต่างๆ ของโครงการก่อนที่จะประเมินอีกครั้งว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด แต่เบื้องต้น คาดว่าน่าจะไปมีผลกับเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มากกว่า

รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล, ทิศทางการส่งออกของไทย ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นตัวกดดัน และมีผลต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

*KTB มองส่งออกติดลบ-งบยังไม่เข้า กดดัน GDP ไตรมาส 1 โตต่ำ

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1/67 ว่า จะเติบโตที่ 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่ยังติดลบ และงบประมาณภาครัฐที่ยังไม่เข้ามาเมื่อเทียบกับปีก่อนที่รัฐมีการใช้จ่ายปกติ ขณะเดียวกัน หากเทียบกับไตรมาสก่อหน้า (QoQ) คาดการณ์ว่า GDP จะโต 0.7% ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนจะมาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ การบริโภค หรือการลงทุน ยังชะลอตัว

นายพชรพจน์ กล่าวว่า KTB ได้ปรับประมาณการณ์ GDP ปี 67 ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.7% มาเหลือที่ 2.3% ปัจจัยหลัก คือ การส่งออกไทยในไตรมาส 1/67 ออกมาติดลบ 0.2% จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี ประกอบกับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลาง ทำให้ดีมานด์ฝั่งตะวันออกกลางหรือยุโรปชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวลง ทำให้จีนมีการส่งสินค้าออกนอกประเทศมาแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาจากภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะที่เป็นผลไม้สำคัญออกมาน้อยกว่าปีที่แล้วพอสมควร หลายปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ภาคการส่งออกของไทยปีนี้ยังเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

"ปัจจัยหลักในการปรับลด GDP หลักๆ มาจากการส่งออก โดยการส่งออกในไตรมาส 1/67 ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น จากเดิมที่มองว่าส่งออกทั้งปี 67 จะโตได้ 1.8% คาดว่าน่าจะโตได้ต่ำกว่านี้พอสมควร" นายพชรพจน์ กล่าว

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/67 มองว่าไม่แตกต่างจากไตรมาส 1/67 มากนัก เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติม โดยยังได้มีปัจจัยกดดันจากเรื่องการส่งออก ส่วนช่วงครึ่งปีหลังนี้ ในไตรมาส 3/67 คาดว่างบประมาณของภาครัฐที่ออกมา จะช่วยทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในไตรมาส 4/67 ต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะสามารถเริ่มใช้ในเดือนใด ซึ่งถ้าออกได้เร็ว ก็จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าออกช้า อาจเป็นปัจจัยที่ไปส่งผลในปี 68 แทน

"ถ้าเทียบครึ่งปีหลัง กับครึ่งปีแรก ความแตกต่าง คือเรื่องงบประมาณ โดยในครึ่งปีหลัง จะมีปัจจัยพิเศษเข้ามา คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในส่วนของปัจจัยการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมีการปรับตัวดีขึ้นทุกเดือน จึงคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะไม่พลาดเป้าที่ 34-35 ล้านคน อย่างไรก็ดี มองว่าไม่น่าจะมีปัจจัยรุนแรงที่จะกระทบท่องเที่ยว ยกเว้นสงครามมีความรุนแรงขึ้น นักท่องเที่ยวจากยุโรปอาจลดลงบ้าง ซึ่งต้องจับตาอีกครั้งว่าจะไปถึงขั้นนั้นหรือไม่" นายพชรพจน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ