ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง 6 มาตรการฝ่าวิกฤติฯลดเงินเฟ้อ แต่ขาดดุลฯเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 15, 2008 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ผลจาก "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย" ของรัฐบาลที่ออกมาในวันนี้เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อลงได้ โดยน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 51 ลดลงมาอยู่ที่ 7.3% จากก่อนหน้าที่เคยคาดไว้ที่ 7.8% 
ในส่วนของมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลปรับลดลงตั้งแต่ 25 ก.ค.นี้ น่าจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.ต่ำกว่าระดับ 10% จากที่เคยประมาณการณ์ไว้ว่าในช่วงดังกล่าวเงินเฟ้อจะขึ้นไปเป็นตัวเลข 2 หลัก
"ผลของมาตรการภาษีสรรพสามิต อาจจะสามารถลดดัชนีราคาผู้บริโภคลงไปได้ประมาณ 0.78%...และถ้าตัวแปรด้านอื่นคงที่ จะส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 51 ลงมาอยู่ที่ประมาณ 7.3% จากประมาณการณ์เดิมของศูนย์วิจัยฯ ที่ 7.8%" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับ 6 มาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาในวันนี้ ประกอบด้วย การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน, ชะลอการปรบราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน, ลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำประปา, ลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า, ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง และลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3
จากการประเมินว่าทั้ง 6 มาตรการที่คาดว่าต้องใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 49,000 ล้านบาทนั้น หากพิจารณาถึงผลของมาตรการที่ประกาศออกมาทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคลงไปได้ประมาณ 1% ของการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมทั้งระบบ
แต่อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้ อีกด้านหนึ่งย่อมหมายถึงภาระที่รัฐบาลจะต้องรับการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การขาดดุลงบประมาณในปี 51 สูงขึ้นมาเป็นประมาณ 2.2 แสนล้านบาท จากเดิมที่ประมาณ 1.72 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 2.3% ของจีดีพี จากเดิมที่ 1.7% ของจีดีพี ซึ่งจะมีผลต่อสถานะทางการคลังที่จะต้องจัดหาวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และอาจมีผลดึงสภาพคล่องจากระบบการเงินไปบางส่วน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเด็นสำคัญที่สุดในยามที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ น่าจะยังคงเป็นการมุ่งประหยัดการใช้พลังงานของทุกฝ่าย เนื่องจากเห็นได้ชัดแล้วว่าการบรรเทาผลกระทบโดยการใช้มาตรการภาษีย่อมจะมีต้นทุนทางการคลังตามมา ซึ่งควรดำเนินการภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด โดยหากพ้นระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มชะลอตัวลงก็น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมในการสิ้นสุดการใช้มาตรการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ