KEST คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%เดือนหน้า,คาดเงินเฟ้อ ก.ค.พุ่งเกิน 10%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2008 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บล.กิมเอ็ง (KSET) คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในเดือนส.ค.นี้จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อให้ได้ผลชะงัด หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2551 ขึ้นจากกรอบ 4.0-5.0%  เป็น 7.5-8.8% 
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของ KSET คาดว่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อในระดับเลขสองหลักเป็นเดือนแรกของปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.น่าจะสูงกว่า 10% คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 10.10% และ 4.15% ตามลำดับ
เหตุผลหลักมาจากการที่ราคาน้ำมันดิบตลาด Nymex พุ่งสูงขึ้นกว่า 135 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเร่งให้ราคาสินค้าและบริการในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (เพิ่มขึ้น 12.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) และหมวดขนส่ง (เพิ่มขึ้น 25.11% ) เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งทั้งสองหมวดมีน้ำหนักกว่า 52% ของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงและการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันจากเงินเฟ้อ
บล.กิมเอ็ง เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.จะเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในช่วงปลายเดือน ก.ค.ปรับตัวลงมากว่า 15% จากระดับสูงสุดที่ 145.86 เหรียญสหรัฐ/ต่อบาร์เรลในวันที่ 3 ก.ค.ส่งผลให้เราปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งปีหลังลงมาที่ระดับ 125-135 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate ซื้อขายกันที่ระดับราคา 120-130 เหรียญ/บาร์เรล
นโยบายลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและก๊าซโซฮอล์ลงลิตรละ 3.30 บาทเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภคเช่นเดียวกันได้ช่วยลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อลงชั่วคราว แต่หากราคาน้ำมันฟื้นตัวและพุ่งขึ้นเหนือระดับ 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอีกครั้ง เราอาจได้เห็นอัตราเงินเฟ้อรายเดือนถีบตัวขึ้นเหนือระดับ 10% ติดต่อกันหลายเดือนด้วย
ที่สำคัญกว่านั้น เศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัญหา cost-push inflation ได้สร้างความเสียหายแก่อุปสงค์ในประเทศมากพอควร ขณะที่การชะลอตัวของอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะส่งผลให้การส่งออกของไทยเติบโตในอัตราที่ถอถอยลง ภาวะดังกล่าวจะกดดันให้ผู้ผลิตขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ชื้อมีกำลังซื้อน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง, ปิโตรเคมี, ผู้รับเหมาก่อสร้างและการขนส่งทางอากาศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ