(เพิ่มเติม) "หม่อมอุ๋ย"คาดเงินนอกไหลกลับตลาดหุ้นไทยหลังพ้นก.ย.-ดอกเบี้ยทรงตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 3, 2008 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรมว.คลัง และอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าหลังจากผ่านพ้นเดือนก.ย.นี้ไปแล้ว มีโอกาสที่เงินทุนจากต่างปประเทศจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเป็นช่วงที่สถาบันการเงินในสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแฟนนี่เมและเฟรดดี้แมคเสร็จสิ้นการตั้งสำรองแล้ว และไม่มีภาระการตั้งสำรองมากนัก ก็จะนำเงินกลับเข้ามาลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในเอเชียรวมถึงตลาดหุ้นไทย  
นอกจากนั้น ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศระยะต่อจากนี้ยังน่าจะทรงตัว เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงแล้ว ตามทิศทางราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
"เชื่อว่าทั้งปี อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ระดับต่ำกว่า 7% โดยเฉพาะ ปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง และอัตราดอกเบี้ยก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง ทิศทางดอกเบี้ยและค่าเงินบาท"
ส่วนปัญหาการเมือง โดยส่วนตัวต้องการให้จบเร็วที่สุด และไม่มีปัญหากระทบกระทั่งและความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากที่สุด
"ผมยังเชื่อมั่นว่า อัตราการเติบโตของประเทศไทยในครึ่งปีหลังน่าจะสูงกว่าครึ่งปีแรกได้ หาก รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในโครงการเมกะโปรเจกท์ และโครงการลงทุนภาครัฐอื่นๆ"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย ประมาณ 5.3% โดยการใช้จ่ายของภาครัฐ ติดลบ 1.3% ขณะที่ภาคเอกชนมีการใช้จ่ายสูงกว่า 2% โดยปัจจัยหลักเชื่อว่าการเติบโตของภาคเอกชนมาจากการที่ประชาชนในภาคเกษตรกรรม ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับผลดี จากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง อ้อย และ ปาล์ม ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก และเชื่อว่า ราคาสินค้าเกษตร น่าจะทรงตัวในระดับสูง ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า และการใช้จ่ายของภาคเกษตรกร จะเป็นตัวนำเศรษฐกิจไทย
ส่วนภาคการส่งออก มองว่าประเทศไทยยังพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ดังนั้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศ โดยปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกไปในประเทศแถบเอเชียสูงถึง 40% และในอนาคตมีแนวโน้มสูงภึง 50-60% เนื่องจากอุตสาหกรรมหลัก ยังคงอยู่ในจีน อาเซียนและ ญี่ปุ่น
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้ เนื่องมาจากนโยบายการจ่ายคืนเงินภาษีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายระยะสั้นที่จะพยุงเศรษฐกิจสหรัฐในระยะสั้น แต่ในช่วงก.ค.-ส.ค. เริ่มเห็นทิศทางการชะลอตัวลงของการใช้จ่าย ดังนั้น เชื่อว่า ในช่วงระยะสั้น ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนตัว และอาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า
ด้านนายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยตอนนี้ มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีปัจจัยการเมืองเข้ามากระทบ แต่หวังว่า การเมืองจะจบโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศ แต่จากการที่เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจากการที่ภาคการส่งออกเติบโต จะทำให้จีดีพีของประเทศยังคงเติบโตได้
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงบ้างเรื่องสถานการณ์การเมืองอาจส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจจะไม่เข้าลงทุนในไทย และเลือกลงทุนในประเทศอื่นหรือนักลงทุนต่างประเทศรายเดิมอาจถอนทุนออกจากประเทศไทย แต่ยังมั่นใจว่า เมี่อเทียบปัจจัยพื้นฐานด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ ของไทยยังดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน
ส่วนปัญหาเศรษฐกิจโลก ก็ยังได้รับปัญหาซับไพร์ม ที่ส่งผลต่อกองทุนเฮจด์ฟันด์ และสถาบันการเงินในยุโรป และ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะจบเมื่อไร ดังนั้นอาจจะมีผลกระทบออกมาเป็นระลอก
ด้านการลงทุนในตลาดหุ้นไทย นายทนง แนะให้เข้าซื้อหุ้นเพราะราคาต่ำลงค่อนข้างมากจากปัจจัยลบต่างๆ เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท หลายแห่งยังมีอัตราการเติบโตและความสามารถทำกำไร รวมทั้งมีการจ่ายปันผลดี หรือลงุทนหุ้นบลูชิพ แต่ควรเป็นการลงทุนในระยะยาว 3-5 ปี เชื่อว่าจะมีกำไร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ