(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์ คาดปี 52 ส่งออกโตไม่ต่ำกว่า 15% อาจสูงถึง 18-19%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 2, 2008 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 52 จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาไทยได้หันไปขยายตลาดในส่วนอื่นๆ ขึ้นมาทดแทนไปมากแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าส่งออกในปีหน้ายังน่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 15% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์           
ทั้งนี้ การส่งออกในปีหน้ามีโอกาสจะสูงถึง 18-19% ได้ หากวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ คลี่คลายลงได้เร็ว และผลกระทบไม่ลุกลามไปยังเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ โดยยังมั่นใจว่าในปีหน้าการส่งออกจะยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เหมือนในปีนี้
"การส่งออกปีหน้า น่าจะขยายตัวได้ 15% แม้สหรัฐฯเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั้งปัญหาซับไพร์มและวิกฤตการเงินจนเกิดผลกระทบไปทั่วโลก แต่หากสหรัฐฯ ผ่านแผนแก้ปัญหาสถาบันการเงิน 700,000 ล้านเหรียญ ก็น่าจะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้มากขึ้นอีก อาจจะถึง 18-19%" นายไชยา กล่าว
สำหรับในปีนี้การส่งออกไปยังสหรัฐยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ว่าจะเกิดวิกฤติหลายด้าน โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐน่าจะลดลงประมาณ 0.01% เท่านั้น และคาดว่าภาพรวมของการส่งออกไทยในปี 51 จะเติบโตประมาณ 20% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกไปสหรัฐในปีหน้าอาจโตได้เพียง 3-4% จากปัญหาวิกฤติการเงินที่อาจทำให้กำลังซื้อลดลง
รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงแผนผลักดันการส่งออกเร่งด่วนในปี 52 ว่า จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในตลาดที่ได้รับผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกน้อยเศรษฐกิจโลกน้อย เน้นอาเซียน, จีน, อินเดีย, ตะวันออกกลาง, ยุโรปตะวันออก และ แอฟริกา ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 65.3% ของการส่งออกรวม โดยจะพยายามเพิ่มสัดส่วนการส่งออกให้ได้ 65-67% เพื่อชดเชยตลาดหลักที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ส่วนตลาดหลักที่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีสัดส่วนการส่งออก 34.7% นั้น จะมุ่งส่งเสริมเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ไม่ให้ส่งออกลดลง ซึ่งจะยังคงกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในระดับเดิม และมีมาตรการใหม่ๆ เช่น การตั้งตัวแทนขาย การส่งเสริมการขายผ่านห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต การจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและส่งเสริมการสร้างตราสินค้า
นอกจากนี้จะเน้นการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอย่างเต็มที่ โดยต้องเพิ่มสัดส่วนการส่งออกจาก 17% ของมูลค่าการส่งออกรวมเป็น 17-19% เพราะสินค้ากลุ่มนี้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง ขณะเดียวกันจะหาทางลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งการลงทุนด้านสาธารณูปโภคด้านการขนส่ง, ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในสาขาที่มีศักยภาพ ตลอดจนหาตัวแทนและหุ้นส่วนในต่างประเทศในตลาดอาเซียน จีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ