ปธ.เอ็กซิมแบงก์ มองหนีไม่พ้นรับแรงกระแทกวิกฤติสหรัฐ ปี 52 คาด GDP ชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2008 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตประธานคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) คาดว่า เศรษฐกิจไทยหนีไม่พ้นที่จะต้องชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า เนื่องจากการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า สภาพคล่องเริ่มเห็นสัญญาณตึงตัว และภูมิภาคเอเชียจะหันมาจับมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านสกุลเงินเอเชียที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ
นายณรงค์ชัย กล่าวในหัวข้อสัมมนาเรื่อง"แนวโน้มการค้าการลงทุนระหว่างประเทศภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเงินโลก"ว่า แผนของทางการสหรัฐที่จะอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือภาคสถาบันการเงินที่มีปัญหา 7 แสนล้านดอลลาร์ ไม่น่าจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด เพราะเป็นเพียงมาตรการเพื่อพยุงไม่ให้ล้มเท่านั้นแต่ยังไม่ได้ช่วยให้รอด ซึ่งจากนี้ไปคงได้เห็นสถาบันการเงินในสหรัฐมีการควบรวมกิจการกันมากขึ้น
ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าวิกฤติภาคการเงินของสหรัฐจะมีปัญหาลุกลามบานปลายไปมากแค่ไหน แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐก็คือการส่งออกของไทย ที่ในปีหน้าคงไม่ขยายตัวมากเหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว เพราะ ปัญหาของสหรัฐจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปด้วย ซึ่งก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวตาม
ด้านอัตราเงินเฟ้อยังน่าจะอยู่ในระดับสูง เพราะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ตลาดสินค้าและบริการยังมีความต้องการสินค้าพลังงานและอาหาร รวมถึงวัตถุดิบเพิ่มขึ้น และจะทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัว
นายณรงค์ชัย มองว่า วิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐเริ่มทำให้สภาพคล่องของไทยตึงตัวแล้ว ซึ่งขณะนี้ธนาคารต่างหันมาใลก้ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแล้ว และเห็นได้ชัดเจนว่าเงินดอลลาร์หายไปจากระบบ โดยตลาดการกู้ยืมระหว่างกัน(อินเตอร์แบงก์)ไม่มีเงินดอลลาร์ให้กู้ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น การกู้ หรือการลงทุน หรือการทำธุรกรรม ที่เป็นดอลลาร์ก็จะเปลี่ยนมาสู่การทำข้อตกลงทด้วยเงินสกุลอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินในกลุ่มเอเชีย
ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเมื่อดอลลาร์หายไปจากระบบก็จะทำให้มีการหันมากู้เงินเป็นสกุลบาท อีกทั้งจะมีการตกลงการค้าระหว่างกันเป็นเงินสกุลเอเชียมากขึ้น รวมถึงเงินบาทด้วย และมีการออกหลักทรัพย์เป็นเงินสกุลเอเชียร่วมกันมากขึ้น เงินสกุลเอเชียจะมีบทบาทมากขึ้นในตลาด โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรเอเชีย โดยมองไปที่เงินเยน เงินหยวนและเงินวอน
ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบบายคงจะไม่ปรับสูงขึ้น เช่นเดียวกับต่างประเทศ เนื่องจากสหรัฐต้องการเน้นดูแลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น(เฟด ฟันด์ เรท)อยู่ในระดับต่ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ