สศค.คาดศก.Q4/51 ติดลบ 2% ทั้งปี 52 โตไม่เกิน 0-2%,แนะลดดบ.-ดึงบาทอ่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 17, 2008 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4/51 จะเริ่มเห็นการหดตัวราว 2% จากการส่งออกที่ขยายตัวได้น้อยมาก และการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการชุมนุมปิดสนามบิน ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็เกือบจะไม่ขยายตัวเลย ดังนั้นแม้รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบก็ยังไม่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้

และในปี 52 สศค.ได้คาดการณ์เบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 0-2% ซึ่งจะมีการประกาศทบทวนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูมาตรการจากรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรด้วย

สำหรับปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงเหลือ 0-0.25% ถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นการส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่าทางการเป็นห่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง และได้บทเรียนจากญี่ปุ่นว่าการลดดอกเบี้ยลงช้า ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ได้ผลเท่าที่ควร

"เป็นสัญญาณเตือนที่ดีว่านโยบายการเงินของสหรัฐฯ ผ่อนคลายลงมาก ขณะที่นโยบายการคลังคงต้องรอการแถลงนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ออกมาก่อน แต่สหรัฐฯ สามารถใช้นโยบายขาดดุลได้มาก เพราะไม่มีข้อจำกัดเหมือนของประเทศไทย"
นายสมชัย กล่าว

สศค.มองอีกว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะถึงจุดต่ำสุด และเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/52 แต่กว่าจะขยายตัวได้คงจะต้องรอถึงปี 53 ซึ่งผลกระทบที่มีต่อไทยนอกจากจะมีผลโดยตรงต่อผู้ส่งออกที่จะต้องเร่งกระจายตลาดไปยังตลาดอื่นทดแทนแล้ว การท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีผลไปถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่จะทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวลดลง

นายสมชัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการคลังของไทยที่ผ่านมาได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว ควรจะหันมาเน้นการใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ โดยในปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 1% เพื่อแสดงให้เห็นว่าให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และยังช่วยลดภาระรัฐบาลที่จะต้องออกพันธบัตรไปด้วย

นอกจากนั้น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนควรจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเงินบาทอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากต้นปีเพียง 6-7% ขณะที่เพื่อนบ้านอ่อนค่าไปแล้วราว 10% ดังนั้น มองว่าเงินบาทยังอ่อนค่าได้อีกแต่ก็ต้องเน้นการดูแลให้มีเสถียรภาพด้วย

"บาทจะอ่อนลงอีกก็ไม่ได้ทำให้เสียหาย เพราะแม้จะมองว่ามีเงินไหลออก ก็ถือว่าเป็นเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรมากกว่า บาทอ่อนยังเป็นผลดีต่อการส่งออกด้วย"นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ