อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า ตลาดการเงินซึ่งเผชิญภาวะตึงตัวอย่างหนักนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า
ดิ อีโคโนมิสท์ ได้ตีพิมพ์ความคิดเห็นของนายกรีนสแปนในบทวิจารณ์ว่า "ที่ผ่านมานั้นตลาดการเงินทั่วโลกถูกทับถมด้วยกระแสความวิตกกังวลที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ผมเชื่อว่าตลาดการเงินจะพลิกฟื้นขึ้นได้ภายในอีก 6-12 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าราคาบ้านในสหรัฐจะกลับมามีเสถียรภาพในปีหน้า และเชื่อว่าภาวะผันผวนในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลงในปีหน้าด้วย"
กรีนสแปนยังกล่าวด้วยว่า การที่กระทรวงการคลังสหรัฐเข้าลงทุนมูลค่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์ด้วยการซื้อหุ้นในธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ ได้ช่วยลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์และอัตราดอกเบี้ยและอัตราการทำสว็อปแบบข้ามคืน ซึ่งการแทรกแซงของกระทรวงการคลังครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการกู้ยืม และจะช่วยลดแรงตึงตัวในตลาดการเงิน นอกจากนี้ การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคารด้วยวิธีนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน และช่วยให้การระดมทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีความไหลลื่นมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ กรีนสแปน แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการปฏิรูปแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ ว่า รัฐบาลสหรัฐควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้เข้มงวดขึ้น พร้อมกับแนะนำว่าสถาบันการเงินที่หย่อนยานในการปล่อยกู้และเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในระบบการเงิน จะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
"ตลาดการเงินไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุม เพราะปัญหาในระบบการเงินส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ควบคุมดูแลอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์สินเชื่อเกิดจากตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐ จากนั้นปัญหาก็ลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายต่อภาคส่วนอื่นๆในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐและทั่วโลก ดังนั้นเราต้องกลับมาแก้ไขที่จุดเริ่มต้น คือใช้มาตรการควบคุมการปล่อยกู้" กรีนสแปนกล่าว
"ความเสียหายที่เกิดขึ้นในระบบการเงินทุกวันนี้ ทำให้บริษัทสหรัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงการลดจำนวนพนักงาน ซึ่งทำให้อัตราว่างงานโดยรวมของประเทศพุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย นอกจากนี้ การขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคและภาคเอกชน ซึ่งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยเร็วขึ้น" เขากล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน