กรมการค้าภายในเตรียมเสนอ กกร.ขึ้นบัญชีข้าวโพด-มันฯ เป็นสินค้าควบคุม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 22, 2009 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) วันที่ 26 ม.ค.พิจารณานำสินค้าเกษตร 2 รายการ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม เพื่อให้สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดูแล และห้ามการเคลื่อนย้ายในจังหวัดที่ติดชายแดน หากจะมีการเคลื่อนย้ายจะต้องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อน

ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้มีสินค้าเกษตรที่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมเพิ่มเป็น 5 รายการ คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน กระเทียม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

นายยรรยง กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องกำหนดมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายเพราะขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการเปิดโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายสินค้าได้ราคาดี จึงไม่ต้องการให้มีการลักลอบนำสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เกษตรกรไทย ซึ่งทำให้เกษตรกรไทยเสียประโยชน์

"ตอนนี้คงต้องมุ่งแก้ไขปัญหาให้กับสินค้าเกษตรก่อน เพราะอยู่ระหว่างการใช้มาตรการเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่มีความผันผวน อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะนี้ราคาตลาดอยู่ที่ 6 บาท/กก. แต่รัฐรับจำนำในราคา 8.50 บาท/กก. ทำให้อาจเกิดปัญหาการสวมสิทธิ์ได้" นายยรรยง กล่าว

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เหตุที่มีการนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าโครงการรับจำนำจำนวนมากกว่าปกติที่เคยรับจำนำเพียง 3-5 แสนตัน เพราะราคาข้าวโพดในตลาดโลกตกลงมาอย่างมาก อีกทั้งปริมาณผลผลิตในปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 4 ล้านตัน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะมีเพียง 3.8 ล้านตัน เพราะช่วงก่อนหน้านี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ส่วนการเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวโพดอีก 2.5 แสนตัน จากเดิมที่กำหนดรับจำนำไว้ 7.5 แสนตัน ก็เชื่อว่าน่าจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งหากเทียบสัดส่วนถือว่ารับจำนำ 35-40% ของผลผลิตที่ออกมาในปีนี้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่า ผลผลิตปี 2551/52 จะมีจำนวน 3.7 ล้านตัน และออกเริ่มสู่ตลาดช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.51 ประมาณ 68.94%, เดือน พ.ย.-ธ.ค.51 ประมาณ 24.68% และเดือน ม.ค.-มิ.ย.52 อีก 6.38%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ