(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย มี.ค.ส่งออกลดลง 23.1%นำเข้าลด 35.1%เกินดุล 2.1 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2009 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน มี.ค.52 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.1% คิดเป็นมูลค่า 11,556 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าลดลง 35.1% คิดเป็นมูลค่า 9,455 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือน มี.ค.52 ไทยเกินดุลการค้า 2,101 ล้านดอลลาร์

ส่วนช่วงไตรมาสแรกปีนี้มียอดการส่งออก 33,787 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.6% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 26,733 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.6% ส่งผลให้ในไตรมาสแรกปีนี้ไทยยังเกินดุลการค้า 7,054 ล้านดอลลาร์

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกสินค้าในเดือน มี.ค.ลดลงทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 20.6% จากความต้องการในตลาดโลกลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น โดยสินค้าในกลุ่มนี้ที่ส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว, ยางพารา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ ผัก-ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญส่งออกลดลง 21.6% ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานยนต์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, สิ่งทอ, ผลิตภัณฑ์ยาง, สิ่งพิมพ์, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องประดับตกแต่ง, เครื่องสำอาง และเครื่องกีฬา เป็นต้น

ด้านตลาดส่งออกหลักยังคงลดลงต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 51 โดยลดลงถึง 33.3% ส่วนตลาดใหม่ส่งออกลดลง 12.2% อย่างไรก็ดี ตลาดใหม่บางประเทศที่ยังสามารถส่งออกไปได้เพิ่มขึ้น คือ ตลาดแอฟริกา เพิ่มขึ้น 17.6%, ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 3.3%, และเอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 0.8%

ส่วนการนำเข้าในเดือน มี.ค.ไทยนำเข้าสินค้าลดลงทุกหมวด โดยสินค้าเชื้อเพลิง นำเข้าลดลง 40.2%, สินค้าทุน ลดลง 24.7%, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลง 43.2%, สินค้าอุปโภคบริโภค ลดลง 13% และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ นำเข้าลดลง 38.3%

นายราเชนทร์ กล่าวว่า หากพิจารณาการนำเข้าในเดือนมี.ค.52 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ปีก่อน จะพบวาขยายตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่หากเทียบกับเดือนม.ค.และ ก.พ.52 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นนำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ