ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยสินทรัพย์สภาพคล่องระบบแบงก์ Q1/52มีกว่า 2.27ล้านลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2009 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 14 แห่ง(รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิ) ณ สิ้นเดือน มี.ค. 52 มีจำนวน 2.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 59,400 ล้านบาท จาก เดือน ก.พ.52

ทั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ตามมาด้วยเงินสด ขณะที่เงินลงทุนสุทธิลดลง นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเกิดจากยอดเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เพิ่มขึ้นประมาณ 17,700 ล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า แม้ยอดเงินฝากจะลดลง 6,830 ล้านบาท สวนทางกับยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ที่ขยับขึ้น 8,380 ล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า

แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิ หรือมาจากผลรวมเฉพาะของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น พบว่า ณ สิ้นเดือนมี.ค.มีจำนวน 1.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 74,400 ล้านบาท จาก 1.02 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนก.พ.52

การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย แยกเป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจำนวน 40,000 ล้านบาท ทำให้มียอดคงค้างที่ 2.98 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือน มี.ค.52 กลุ่มธนาคารขนาดกลางและกลุ่มธนาคารกลาง สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 16,000 ล้านบาท เป็นยอดคงค้าง 567,000 ล้านบาท และ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 3,360 ล้านบาท มียอดคงค้าง 1.4 ล้านล้านบาท

และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เพิ่มขึ้น 282,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องที่กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 211,000 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่เพิ่มขึ้น 43,700 ล้านบาท และกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น 27,900 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 1/52

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ช่วงไตรมาส 1/52 ที่ยังมีอยู่สูงถึงประมาณ 2.27 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 แสนล้านบาทจากสิ้นปี 51 และคาดว่ายังมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่องตลอดปีนี้ จะสามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจซึ่งยังคงเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลงดังกล่าว คงจะส่งผลให้ทางเลือกในการออมและการลงทุนอื่นๆ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้การฝากเงินที่ธนาคารพาณิชย์อาจยังคงมีความน่าสนใจในสายตาของผู้มีเงินออม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับลงมาต่ำมากแล้วก็ตาม ขณะที่ ยอดสินเชื่ออาจเติบโตในอัตราที่ช้ากว่า อันเป็นผลจากความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเอกชน ที่คาดว่าจะยังมีจำกัดตามการคาดการณ์การหดตัวลงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังมีอยู่ในระดับสูง ตลอดจนความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะมีการบริหารสภาพคล่องผ่านการลงทุนเพิ่มเติมในตลาดเงินระยะสั้น นอกเหนือไปจากการลงทุนในหลักทรัพย์โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะมีระดับที่ค่อนข้างต่ำตามทิศทางตลาดเงินและตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ