นางจันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยลดลงมาอยู่ที่ 81 จากระดับ 89 ในการสำรวจครั้งก่อนเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกก็ลดลงเช่นกันที่ลดลงจาก 84 มาที่ 77
ข้อมูลการสำรวจดังกล่าว มาจากการสำรวจออนไลน์ของผู้บริโภคซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ครั้งต่อปีเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ข้อกังวล และการจับจ่ายเงินจาก 50 ประเทศ จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 25,140 คนตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ถึง วันที่ 2 เมษายน 2552 โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 49 ประเทศลดลง มีเพียงไต้หวันประเทศเดียวที่สวนกระแสของโลก โดยพบดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 60 เป็น 63 แต่อย่างไรก็ตามก็ยังถือว่าต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยทั่วโลก 14 จุด
“ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเราอาจจะอยู่ที่จุดต่ำสุดหรืออย่างน้อยใกล้กับจุดต่ำสุดในวงจรเศรษฐกิจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่เราพบการปรับตัวอย่างชัดเจนของผู้บริโภคในการใช้จ่ายและการออม โดยพบผู้บริโภคสี่สิบเปอร์เซ็นต์กล่าวว่าพวกเขากำลังใช้เงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันชำระหนี้และเก็บออม ชาวอเมริกันมีมุมมองในทิศทางบวกเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้บริโภคเกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ที่มีความหวังว่าจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวในอีกสิบสองเดือนข้างหน้า"นางจันทิรา กล่าว
นางจันทิรา กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการชะลอตัวเนื่องจากการค้าระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันการบริโภคภายในครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับที่เป็นทิศทางบวก โดยเป็นผลมาจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจากข้อมูลรายงานดัชนีการค้าปลีกของนีลเส็น
ยอดค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตที่ 7.3%ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเติบโตกว่าปีที่แล้ว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กลุ่มธุรกิจ FMCG ยังคงเติบโตอย่างแข็งแรง ดูเสมือนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงเวลานี้ไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าว
สำหรับปัญหาที่ผู้บริโภคชาวไทยกังวลมากที่สุด ในอีกหกเดือนข้างหน้า คือ ปัญหาเศรษฐกิจ (36%) ปัญหาการว่างงาน (17%) ความไม่มั่นคงทางการเมือง(10%) และปัญหาหนี้สิน (7%) ตามลำดับ
จากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 91% คิดว่าเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้อยู่ในภาวะถดถอย โดยเพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งที่แล้วที่มีผู้บริโภค 80% คิดเช่นนี้ และ44%ของผู้บริโภคไม่เชื่อว่าประเทศของตนจะหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะเดียวกันพบจำนวนผู้บริโภคมากขึ้นโดยมีผู้บริโภคประมาณ 24% ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในอีก 12 เดือนข้างหน้า