NIDA แนะแผนสำรองดึงเอกชนร่วมลงทุน-แปรรูป รสก.หลัง พ.ร.ก.กู้เงินฯ สะดุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 19, 2009 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ชี้ว่า การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ต้องล่าช้าออกไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบ 2 รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ

ขณะเดียวกัน มีความเป็นห่วงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนมาตรการและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย ก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลที่จะต้องแก้ไขต่อไป

"ไม่อยากเห็นเศรษฐกิจของชาติต้องตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะขณะนี้ประชาชนทุกคนกำลังประสบปัญหา ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนก็ต้องสนับสนุน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื่อยๆ เหมือนกรณี พ.ร.ก.กู้เงินที่ต้องสะดุด แล้วใครจะมาเชื่อมั่น แม้ท้ายสุดจะคาดว่าเรื่องนี้จะผ่านไปด้วยดี" นายมนตรี กล่าว

นายมนตรี กล่าวว่า แม้การบริหารงานของรัฐบาลอาจติดขัดบ้าง แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องดำเนินการต่อไปด้วยข้อจำกัดของงบประมาณที่มีอยู่ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเตรียมแผนรองรับกรณีฉุกเฉินและมาตรการที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ โดยอาจแบ่งเป็นแผนระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว เช่น การปรับเพดานการกู้เงินจากเดิม 20% เพิ่มเป็น 30% จากงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล

รวมไปถึงการดึงให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน เพื่อให้เกิดผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ทำให้เกิดภาระหนี้ภาครัฐลดลงแต่ให้ผลทางเศรษฐกิจเท่าเดิม

ขณะที่แผนระยะยาวนั้น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการประหยัดทรัพยากรภาครัฐ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ถือเป็นช่องทางการระดมทุนในการพัมนาประเทศระยะยาว

"รัฐวิสาหกิจทั้ง 60 กว่าแห่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก ทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งถ้าเกิดการแปรรูปจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการแข่งขันและการดำเนินงาน รวมไปถึงรัฐไม่ต้องใส่เงินลงทุนให้กับรัฐวิสาหกิจ สามารถนำเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากมาย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่องบประมาณของชาติ" นายมนตรี ระบุ

อย่างไรก็ดี ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องพิจารณากันอย่างละเอียดในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่ารัฐวิสาหกิจไหนสมควรและเหมาะสมที่จะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปบ้าง เพราะแต่ละรัฐวิสาหกิจก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ