ยอดส่งออกญี่ปุ่นเดือนเม.ย.ร่วงน้อยลง บ่งชี้ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 27, 2009 09:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยอดส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนเม.ย.ทรุดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับที่ดิ่งลงในเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งยอดส่งออกที่ดีขึ้นนี้จะเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ส่งสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหนักสุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นอาจเริ่มคลี่คลายลง

กระทรวงคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดส่งขนส่งสินค้าไปต่างประเทศร่วงลง 39.1% จากปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่ดิ่งลง 45.5% ในเดือนมี.ค. ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 1.9% ซึ่งทำสถิติฟื้นตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

อุปสงค์สินค้าจากต่างประเทศเริ่มแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพมากขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสแรกเป็นต้นมา หลังจากที่ยอดส่งออกดิ่งลงแรงเกินคาดซึ่งกดดันให้เศรษฐกิจตกต่ำหนักสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2498 ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป กล่าวว่า ตลาดสหรัฐอาจเดินมาถึงจุดต่ำสุดและพร้อมที่จะดีดตัวขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตของญี่ปุ่นเช่นฮิตาชิ คอนสตรัคชั่น แมชชีนเนอรีย์ โค และโคมัตสุ จำกัดยังได้อานิสงส์จากภาวะอุปสงค์ในจีนที่กระเตื้องขึ้นด้วย

นักวิเคราะห์จากฟูจิตสึ รีเสิร์ช ในญี่ปุ่นกล่าวว่า "ภาคการส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มมีเสถียรภาพ แต่ภาวะเช่นนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจรอดพ้นจากภาวะคับขันได้เท่านั้น"

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 09:08 น.ตามเวลาโตเกียว เงินเยนเทรดที่ 95.17 ต่อดอลลลาร์ จากระดับ 95.27 ต่อดอลลาร์ก่อนที่ทางการจะเปิดเผยข้อมูลยอดส่งออก ขณะที่ในเดือนนี้ เงินเยนแข็งค่าขึ้นแล้ว 3.5% ซึ่งทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง รวมถึงโตโยต้าอาจเสียเปรียบด้านผลประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากแข็งค่าของเงินเยน

ด้านดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวไต่ระดับขึ้น 1.4 % หลังจากที่สหรัฐเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ที่ถีบตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสนี้ หลังจากที่ดิ่งหนักเป็นประวัติการณ์ 15.2% ในช่วงไตรมาสก่อน ขณะเดียวกัน จำนวนสินค้าในสต็อกที่น้อยลงจะกระตุ้นให้บริษัทต่างๆปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเร็วๆนี้ แต่ถึงกระนั้นกระแสความกังวลยังคงมีอิทธิพลต่อตลาดมากกว่ากระแสคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์แง่บวกในระยะยาว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ