ครม.ศก.สั่งติดตามประเมินผลมาตรการกระตุ้น ศก.-ปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อ SME

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) วันนี้ มีมติเห็นชอบกรอบการติดตามและประเมินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอ โดยเห็นควรให้ติดตามประเมินผลใน 2 ส่วน คือ 1.ด้านการบริหารจัดการ โดยติดตามผลการดำเนินงานเรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณ 2.ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของการดำเนินการ

พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการที่รับผิดชอบให้ สศช.ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและรายงานคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพิจารณา หลังจากพบปัญหาในทางปฏิบัติกรณีที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ SMEs ยังคงมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ดังนั้น จึงเห็นควรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยใช้งบประมาณที่อยู่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง จำนวน 1.45 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มทุนได้ราวเดือน ก.ค.52

สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.)

ที่ประชุม ครม.ศก.ยังรับทราบความก้าวหน้าการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินของรัฐ โดยให้ติดตามการขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs การดำเนินการเรื่องสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับสนับสนุนธุรกิจใน 5 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสินเชื่อเดิมใกล้ครบกำหนดแล้ว และเร่งรัดการดำเนินงานของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาแก่เยาวชนใน 5 จังหวัดภาคใต้ต่อไป

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานต่อที่ประชุม ครม.ศก.ถึงสินเชื่อและสภาพคล่อง ณ สิ้นเดือน เม.ย.52 พบว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว และตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับตลาดในภูมิภา เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับภูมิภาค โดยช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย.52 เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.91 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน

สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินในโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 16 โครงการ วงเงินรวม 116,700 ล้านบาทนั้น พบว่าตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.-31 พ.ค.52 มีการเบิกจ่ายแล้ว 55,831 ล้านบาท คิดเป็น 47.84% ของวงเงินงบประมาณ โดยโครงการที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี และโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน

ขณะที่กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานผลการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการนำเข้า-ส่งออกต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยปัญหาส่งออก นำเข้าที่เป็นอุปสรรรคต่อนักลงทุนนั้น กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมศุลกากรดำเนินการใน 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ให้ทบทวนกฎหมายและประกาศเพื่อให้ระบุพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าที่ต้องการควบคุมในประกาศให้ชัดเจน รวมทั้งปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ล้าสมัย ส่วนระยะต่อไปเห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทุกหน่วยงานเร่งจัดตั้ง National Single Window กับกรมศุลกากร

ส่วนปัญหาวิธีการคำนวณการให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แตกต่างกันระหว่าง BOI กับกรมสรรพากร และการเก็บภาษีย้อนหลังสำหรับการนำเข้าเหล็กซิลิคอนนั้น ที่ประชุมเห็นควรเร่งกระบวนการพิจารณาให้แล้วเสริจใน 3 เดือน เพื่อให้มีข้อยุติโดยเร็ว และให้กรมศุลกากรดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการแต่ละราย

อย่างไรก็ดี ปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม เรื่องการตีความที่ยังแตกต่างกันระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับการใชสิทธิภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ เห็นควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า หากไม่มีพฤติการณ์ที่ผู้นำเข้าจงใจกระทำความผิดอย่างชัดเจนจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ