ม.รังสิต คาด GDP ปี 52 ลบ 2.5-3.5% ส่งออกลบ 18.5% น้ำมันแตะ $85-90 บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 12, 2009 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 52 จะติดลบในช่วง 2.5-3.5% โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 2/52 จะติดลบที่ -5.5% โดยจีดีพีเริ่มเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 3/52 โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.8% และไตรมาส 4/52 อยู่ที่ 1.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 0.8-1%

"เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาเงินฝืดและความถดถอยอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ และ ยังคงดำเนินต่อไปอีกสองไตรมาส คือ ไตรมาสสองและไตรมาสสาม โดยที่เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่ ซึ่งอาจมีจีดีพีเป็นบวก"นายอนุสรณ์ กล่าว

ตัวเลขคนว่างงานที่แท้จริงจะสูงกว่าที่ทางการประเมินไว้มากพอสมควร เนื่องจากแรงงานไทยจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ รวมทั้งแรงงานภาคเกษตร นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง คือ ว่างงานแฝงและการทำงานไม่ได้เต็มศักยภาพเนื่องจากระบบเศรษฐกิจหดตัว จำนวนคนว่างงานที่แท้จริงน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านคน หากรวมเข้ากับนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ การเร่งรัดการใช้จ่ายก็ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง การคาดหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นในไทยเป็นผลจากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างแรง บวกกับสภาวะที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ การคาดการณ์ในแง่ร้ายของประชาชนและภาคธุรกิจทำให้ลดการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้การลงทุนเอกชนทั้งปีติดลบมากกว่า -17.5% ภาคการบริโภคเอกชนเติบโตไม่ถึง 1%

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของการบริโภคและการลงทุนที่กระเตื้องขึ้นบ้างช่วงไตรมาสสาม คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ของการติดลบน่าจะลดน้อยลง

ส่วนอัตราการขยายตัวของภาคส่งออกในปีนี้จะอยู่ที่ติดลบ 18.5% ซึ่งต่างจากเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราการเติบโตของการนำเข้าจะหดตัวในระดับที่สูงมากสะท้อนการอัตราการขยายตัวติดลบของการลงทุนภายในประเทศและการชะลอตัวลงอย่างแรงของธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้สัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าสูง

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่ามีโอกาสปรับลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.25-0.5% ในช่วงที่เหลือของปี ยกเว้นรัฐบาลสามารถกู้เงินได้จากระบบตามเป้าหมายหรือตามแผนงาน และมีการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐตามเป้าหมาย ก็จะไม่ทำให้ดอกเบี้ยปรับลดลงอีก แต่ก็จะไม่มีแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น เพราะสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนติดลบ และธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างมาก การออกพันธบัตรกู้เงินของรัฐบาลไทย จะไม่มีผลให้ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ดอกเบี้ยระยะสั้นอาจปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แม้ดอกเบี้ยต่ำแต่ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงสูงขิ้นจากเงินเฟ้อติดลบ และ อาจเกิดสภาวะกับดับสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ซึ่งมีผลทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพต่ำ ต้องเน้นการลงทุนภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นและมีโอกาสแตะระดับ 85-90 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงปลายปี ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาคการผลิตที่เริ่มกระเตื้องขึ้น

ค่าเงินบาทในระยะสั้นช่วงสามเดือนข้างหน้ามีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย และ การเกินดุลการค้า มีโอกาสแข็งค่าถึงระดับ 31-32 ต่อดอลลาร์ ช่วงไตรมาสสี่อาจกลับมาอ่อนค่าอีกเมื่อเงินทุนบางส่วนไหลกลับสหรัฐอเมริกา (เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น) และการลงทุนในประเทศเริ่มฟื้นตัว (มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น)

สำหรับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปีสามารถขึ้นไปถึงระดับ 680-700 จุด โดย Sector ที่น่าลงทุน ได้แก่ กลุ่มพลังงาน (ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและกำไรจากสต๊อคน้ำมัน) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (ได้รับประโยชน์จาก Mega Projects ของรัฐบาล) กลุ่มสถาบันการเงิน (ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ก. เงินกู้)



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ