นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียงโบรกเกอร์คาดมูลค่าส่งออก พ.ค.ที่กระทรวงพาณิชย์จะประกาศในสัปดาห์นี้ เริ่มโงหัวขึ้นจาก เม.ย.แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ฐานสูงแล้วจะยังติดลบในระดับ 20-25% เหตุที่เชื่อว่าส่งออกเริ่มดีขึ้นเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามา หลังจากสินค้าคงคลังของประเทศผู้นำเข้าเริ่มลดลง ขณะที่ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ เช่น จีน เริ่มสั่งซื้อสินค้าหลังภาวะเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ส่วนการนำเข้ายังติดลบหนักต่อเนื่อง
สถาบัน มูลค่าการส่งออก(%) ม.หอการค้าไทย -20% ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด -20% บล.กสิกรไทย -24 ถึง-25% ศูนย์วิจัยกสิกรไทย -24 ถึง-25%นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดว่า การส่งออกในเดือนพ.ค.นี้จะดีขึ้นจากเดือน เม.ย. เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่จีนเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น โดยคาดว่าในเดือน พ.ค.การส่งออกของไทยจะยังติดลบประมาณ 20%
"เรามองว่ายังติดลบใกล้เคียง 20% แต่จะไม่ลบมากถึง 26% เหมือนใน เม.ย.เพราะวันหยุดเยอะ มีการชะลอการส่งออก และจะมาอยู่ในเดือนพ.ค. ซึ่งเดือนนี้สัญญาณเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น การสั่งซื้อสินค้าจากจีนมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น" นายธนวรรธน์ กล่าวขณะที่ยอดการนำเข้าในเดือน พ.ค.คาดว่าจะยังติดลบราว 30% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว แต่ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเม.ย.ที่ติดลบถึง 36% เพราะขณะนี้ประชาชนยังชะลอการบริโภค การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกยังคงมีไม่สูง ขณะที่สถานการณ์การนำเข้าสินค้าในกลุ่มพลังงานก็จะไม่เพิ่มสูงมากเช่นกัน แต่เชื่อว่าในเดือนนี้ไทยจะยังคงเกินดุลการค้า
น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.จะดีขึ้นจากเดือนเม.ย.เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังของหลายประเทศเริ่มลดลงจึงทำให้มีการสั่งนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น
แต่ทั้งนี้หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค.จะยังคงติดลบในระดับที่มากกว่า 20% เนื่องจากเดือนพ.ค.51 มีฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงถึง 15,880 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากพ.ค.50 ถึง 24.52%
"เชื่อว่าการส่งออกเดือนพ.ค.ในแง่มูลค่าเมื่อเทียบกับเม.ย.น่าจะดีขึ้นเล็กน้อย อยู่บนการคาดการณ์ว่าสินค้าคงคลังในต่างประเทศที่ก่อนหน้านี้ขายไม่ออก และชะลอ order ไปนั้น ตอนนี้เริ่มมีการระบายออกบ้างแล้ว จึงทำให้มี order ใหม่เข้ามาบ้าง"น.ส.อุสรา กล่าวด้านนางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า การส่งออกในเดือน พ.ค.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะยังคงติดลบในระดับสูงใกล้เคียงกับเดือนเม.ย.โดยติดลบประมาณ 24-25% ปัจจัยสำคัญมาจากฐานการส่งออกที่สูงในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับ การรายงานมูลค่าการส่งออกของหลายประเทศพบว่ายังติดลบในอัตราค่อนข้างสูง เช่น จีน, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และเวียดนาม เป็นต้น
"ปีก่อนมีผลของราคาค่อนข้างมาก ตั้งแต่ไตรมาส 2-3 ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้า commodities โดยเฉพาะน้ำมันปรับตัวสูงมาก ดังนั้น จึงน่าจะมีผลไปถึง ก.ค.ปีนี้ที่การส่งออกไทยจะยังติดลบในอัตราสูงมากกว่า 20% การฟื้นตัวของส่งออกไทยยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้" นางพิมลวรรณ กล่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยอาจจะเห็นได้ในช่วงไตรมาส 4/52 ส่วนไตรมาส 3/52 อาจได้เห็นการส่งออกติดลบในอัตราที่ชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 10% แต่ช่วงปลายไตรมาส 3/52 อาจจะติดลบเป็นตัวเลขหลักเดียว
ด้าน บล.กสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในเดือนที่แล้วน่าจะติดลบราว 24%-25% ใกล้เคียงกับเดือนเม.ย.ที่ติดลบ 26% ขณะที่การนำเข้าจะติดลบน้อยลงเหลือ 24% จากที่ติดลบถึง 36.3% ในเดือนเม.ย. ซึ่งการส่งออกที่ติดลบในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่การนำเข้าติดลบน้อยลงนั้น ทำให้เพิ่มความคาดหวังว่าการส่งออกจะดีขึ้นในช่วงต่อไป และยังมองว่าส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นมาก
อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ รายงานยอดการส่งออกเดือนเม.ย.52 ติดลบ 26.1% คิดเป็นมูลค่า 10,429 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกสินค้าลดลงทุกหมวด เนื่องจากมีวันหยุดยาว ประกอบกับเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจนต้องมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่ยอดนำเข้าติดลบ 36.3% คิดเป็นมูลค่า 9,834 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 595 ล้านดอลลาร์