ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย. แสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังช่วยให้เศรษฐกิจยุโรปหลุดพ้นจากภาวะถดถอย
โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของทั้งผู้บริหารและผู้บริโภคใน 16 ประเทศที่ใช้เงินยูโรปรับตัวสูงขึ้นแตะ 73.3 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว จาก 70.2 จุดในเดือนพ.ค. นอกจากนั้นยังสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะอยู่ที่ 71 จุด
ธนาคารกลางยุโรปปล่อยเงินกู้ให้ธนาคารต่างๆ ทั่วยุโรปเพื่อให้ตลาดสินเชื่อมีสภาพคล่อง ในขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศก็ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
"กลุ่มประเทศยุโรปเดินมาถูกทางแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง" มาร์ติน วอน เวลียต นักเศรษฐศาสตร์จาก ไอเอ็นจี กรุ๊ป เอ็นวี ในอัมสเตอร์ดัม กล่าว "ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะฟันธงว่าธนาคารกลางยุโรปจะขึ้นดอกเบี้ยภายในระยะเวลา 12 เดือน"ในขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเขตยูโรโซนก็ปรับตัวสูงขึ้นแตะ -25 ในเดือนมิ.ย. จาก -28 ในเดือนพ.ค. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตขยับขึ้นแตะ -32 จาก -33 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกปรับตัวลดลง
หลังจากที่เศรษฐกิจยุโรปร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 15 ปีในไตรมาสแรก ในที่สุดก็มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการหดตัวช้าสุดในรอบ 9 เดือนในเดือนมิ.ย. ในขณะที่ดัชนี Ifo ของเยอรมนีก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 3 แล้ว
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรปได้ปล่อยเงินกู้จำนวน 4.42 แสนล้านยูโร (6.19 แสนล้านดอลลาร์) ให้กับธนาคารต่างๆ เป็นเวลา 12 เดือน ด้วยหวังเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดสินเชื่อ นอกจากนั้นทางธนาคารยังวางแผนซื้อพันธบัตรมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ บลูมเบิร์กรายงาน