แบงก์พาณิชย์หันพึ่งตลาดอินเตอร์แบงก์ชดเชยรายได้ดอกเบี้ยหดตามสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 8, 2009 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า จากการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องหารายได้ด้านอื่นมากขึ้น โดยพบว่าช่วงไตรมาส 1/52 ระบบธนาคารพาณิชย์หันไปหารายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร(อินเตอร์แบงก์) เพิ่มขึ้นถึง 15.6% เทียบกับระดับ 12.5% ในช่วงไตรมาส 4/51

ทั้งนี้ เป็นเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร ธปท. 9.9% เพิ่มขึ้นจาก 8.9% ในไตรมาส 4/51 นอกจากนั้น เป็นการลงทุนในตราสารหนี้อื่น เพิ่มเป็น 15.6% จากไตรมาส 4/51 ที่อยู่ 14.9%

นางฤชุกร กล่าวว่า การที่ระบบธนาคารพาณิชย์หันไปลงทุนด้านอื่นมากขึ้น เพื่อนำมาชดเชยรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ที่หายไป จากการปล่อยสินเชื่อปกติ ซึ่งช่วงไตรมาส 1/52 สินเชื่อใหม่หดตัวไปแล้ว 8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/51 ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็ลดลงไป 4.8%

"ช่วงสินเชื่อชะลอ แบงก์ต้องหารายได้อื่นที่จะมาชดเชยกับต้นทุนจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ต้องหาทางไปลงทุนด้านอื่นแทน ซึ่งการปล่อยกู้ในตลาดอินเตอร์แบงก์ และตราสารหนี้ถือว่าเป็นทางที่ดีกว่า เพราะไม่มีความเสี่ยงมาก"นางฤชุกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ระบบธนาคารพาณิชย์หันไปพึ่งพารายได้จากตลาดอินเตอร์แบงก์จะเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น เพราะหากรัฐบาลมีการลงทุนในระบบสาธารณูปโภค และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนก็จะทำให้เกิดความต้องการสินเชื่อสูงขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะกลับไปหารายได้จากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเช่นเดิม เนื่องจากมีความพร้อมในระดับสูงเพราะสภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังมีระดับสูงมาก

"ธุรกิจหลักของแบงก์ยังมาจากการปล่อยสินเชื่อ เพราะรายได้100บาท เป็นดอกเบี้ยถึง 70% และ 30%เป็นรายได้ค่าธรรมเนียม ปัจจุบันสัดส่วนนี้ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะรายได้จากดอกเบี้ยรับยังทำรายได้ ได้ดีกว่าการลงทุนด้านอื่น ดังนั้นเมื่อรัฐเริ่มลงทุน จะจุดประกายให้เอกชนต้องการเงินมากขึ้นตาม" ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ