กสิกรฯ คาดเฟดคงดอกเบี้ยนโยบายถึง H1/53 แม้ ศก.สหรัฐมีแนวโน้มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 53 เนื่องจากปัญหาการว่างงานของสหรัฐยังคงยืดเยื้อ ขณะที่ความต่อเนื่องของการปรับตัวในทิศทางดีขึ้นของสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐยังคงเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไป

"แม้เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ไปตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้และอาจต่อเนื่องไปจนถึง H1/53 เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐคงจะปรับตัวขึ้นตามแรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และอาจส่งผลต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้จากผลการประชุมของเฟดล่าสุดให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม พร้อมระบุว่า สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะยังคงเอื้อให้เฟดยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษนี้ไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้เฟดยังไม่เปลี่ยนแปลงวงเงินสำหรับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็ได้ขยายระยะเวลาให้กับแผนการเข้าซื้อพันธบัตรจาก ก.ย.52 เป็น ต.ค.52

โดยถ้อยแถลงของเฟดรอบนี้จะโน้มเอียงให้สัญญาณเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ กำลังปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุด และเป็นครั้งแรกที่เฟดประเมินเศรษฐกิจด้วยถ้อยคำในเชิงบวกอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมองว่าความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นในช่วง 21 เดือนที่ผ่านมาจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มขึ้นในช่วง ธ.ค.50 อาจทำให้ช่วงระยะเวลาของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านการผลิต การใช้จ่ายของภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐ ตลอดจนเครื่องชี้ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐที่ทยอยปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดภายใต้วิกฤตในรอบนี้จะเป็นสัญญาณสำคัญที่ยืนยันว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤต

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น มองว่า สัญญาณเชิงบวกจากเฟด และเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเป็นข่าวดีต่อการส่งออกของไทยในช่วง H2/52 ที่จะได้รับแรงหนุนทั้งจากการกลับมาของสต็อกสินค้าของผู้ซื้อ และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในจีน และสหรัฐ

ขณะที่การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของไทยก็น่าจะได้รับแรงหนุนจากทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เริ่มปรับขึ้นตามราคาน้ำมันและการคาดการณ์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ