นักวิชาการแนะใช้โอกาสนี้พัฒนารถไฟความเร็วสูงลดต้นทุนขนส่งเปิดเอกชนร่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 22, 2009 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการแนะรัฐบาลใช้โอกาสนี้เร่งปฎิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูง เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ขณะที่สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยแนะปรับโครงสร้างเป็นกรมรถไฟเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพนักงาน และบริหารงานได้ง่ายขึ้น

"ช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการปฎิรรูปการรถไฟฯ เพราะประชาชนหมดความอดทนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการโครงการดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม กล่าว

นายสังศิต กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใน รฟท.ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง ดังนั้นรัฐบาลควรปฎิรูปกิจการรถไฟในทุกด้าน ทั้งระบบราง ความเสื่อมโทรมของขบวนรถ การบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับยุทธศาสศาสตร์การค้าในอนาคต

ในอนาคตประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง โดยรัฐเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ แต่หากไม่มีงบประมาณเพียงพอก็สามารถให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย แต่ต้องเปิดโอกาสให้เอกชนหลายราย เพื่อป้องกันการผูกขาด และให้ค่าบริการอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการขนส่งทางบก 15-20%

ด้านนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปฎิรูปกิจการรถไฟ แต่ต้องไม่ใช่การแปรรูป เพราะหากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ ส่วนการนัดประชุมใหญ่วิสามัญของสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ เพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวตามมติของ สรส. แต่ สร.กฟผ.จะไม่ใช้วิธีกดดันรัฐบาลด้วยการชุมนุม ตัดน้ำ หรือตัดไฟฟ้า และยอมรับว่าสมาชิก สรส.มีความเห็นต่างกัน ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลใช้วิธีการเจรจากับ สร.รฟท. ไม่ใช้ความรุนแรงเข้ามาแก้ปัญหา

ขณะที่นายเกริกกล้า สนธิมาส ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ในอนาคตระบบโลจิสติกส์ทางรางของไทยจะต้องเชื่อมโยงกับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งเห็นว่า รัฐบาลควรมีการจัดตั้งกรมรถไฟตามที่ทีดีอาร์ไอ เสนอเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพนักงานว่าจะไม่ถูกแปรรูป ขณะที่ภาครัฐจะเข้ามาดูแลและปฎิรูปองค์กรได้ง่ายขึ้น โดยอาจต้องมีการแก้กฎหมาย และหากดำเนินการได้ก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี รวมทั้งให้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ของสภาพัฒน์ เพื่อให้มีการศึกษาผลดีและผลเสียอย่างชัดเจน

"ส่วนตัวให้คะแนนความมั่นใจในการบริหารของการรถไฟฯ ที่ 3 คะแนนจากเต็ม 10 หลังสหภาพการรถไฟเปิดประเด็นเรื่องความไม่ปลอดภัยของหัวรถจักร ทำให้ภาคเอกชนกังวลด้านการขนส่งสินค้าบางชนิดที่มีมูลค่ามหาศาล" นายเกริกกล้า กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ