(เพิ่มเติม) คลังคาด ม.ค.53 ออกพันธบัตรออมทรัพย์งวดใหม่ 6 หมื่นลบ.ดอกเบี้ยเฉลี่ย 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 22, 2009 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งงวดที่สอง วงเงิน 60,000 ล้านบาท อายุ 5-7 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ภายในเดือน ม.ค.53 โดยเงินที่ได้จะนำไปใช้ในการรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่กระทรวงการคลังขอกู้มาจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ(SP2)

ทั้งนี้การกู้เงินตาม SP2 กระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง แล้ว วงเงิน 30,000 ล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ FDR+.60% หรือเฉลี่ยเทียบเท่า 1.4% และเตรียมกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มอีก 32,000 ล้านบาท คาดว่าต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ในอัตราเดิม โดยขณะนี้รอความพร้อมการเบิกจ่ายเงินของโครงการลงทุนต่างๆ ในโครงการไทยเข้มแข็ง

สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในโครงการลงทุน จำนวน 350,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว 15,000 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้ในการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง จำนวน 14,500 ล้านบาท และการเบิกจ่ายเงินของโครงการลงทุนต่างๆ อีก 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 52 โครงการลงทุนต่างๆ จะเร่งการเบิกจ่ายเงินมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็งใน ไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 53 (ต.ค.-ธ.ค.52) ให้ได้ 50,000-60,000 ล้านบาท

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในวันนี้ ได้มีการประชุมทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าว ทั้งการดำเนินงาน การรายงานผลการเบิกจ่าเงิน ปัญหาและอุปสรรค โดยได้ย้ำถึงความคุ้มค่าของการใช้เงิน ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน เนื่องจากรัฐบาลมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

สำนักงบประมาณจะมีการพิจารณารายการประกอบการขออนุมัติการจัดสรรเงินอย่างละเอียด และให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันตรวจสอบมูลค่างาน กำกับ และติดตามการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันการทุจริต ซึ่งโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งตาม SP2 ได้กำหนดแนวทางการประเมินโครงการใน 3 ระดับ คือประเมินในระดับภาพรวม โดยชี้วัดจากการเติบโตของจีดีพี การจ้างงาน และการเก็บภาษี การประเมินในระดับสาขา และการประเมินในรายโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ