"กรณ์"เปิดโรดแม็ปปรับโครงสร้าง 3 ด้านหลักหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 29, 2009 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา Thailand Tomorrow เรื่อง "Roadmap for Thailand Economic Reform"ว่า ไทยจำเป็นต้องมีการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ 3 ด้านหลักหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 51-52 เนื่องจากพบปัญหาความเหลื่อมล้ำในนกลุ่มคนยากจนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เป็นเพียงปัญหาทางสังคม แต่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, ขีดความสามารถการแข่งขันภาคเอกชนที่ยังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศคู่ค้า เช่น ต้นทุนขนส่งที่สูงถึง 19% และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งปัญหาภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องความสูญเสียจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การผูกขาดทางธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร โดยไม่มีการสร้างผลตอบแทนได้ เช่น กรณีการจำกัดการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และ การผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม

ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงการคลังจึงมีแนวทางจัดการปฎิรูปเศรษฐกิจใน 3 หมวดหลัก คือ 1. ภาคประชาชน เพื่อสร้างโอกาสให้เท่าเทียม ทำให้ฝนตกทั่วฟ้า โดยจะมีการจัดการเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ฟื้นฟูอาชีพ และเพิ่มเงินสินเชื่อให้ การเข้าถึงที่ทำกิน ซึ่งกรมธนารักษ์ได้จัดสรรที่ราชพัสดุให้เพื่อเกษตรกรเช่าในราคาถูก ซึ่งเป็นนโยบายการนำทรัพย์สินมาใช้ประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ

2.ภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการไทยเข้มแข็งระยะแรกในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท การปฎิรูประบบภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม พร้อมปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% ในระยะยาว การพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน โดยแผนพัฒนาตลาดเงินจะมีการใช้แผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ธนาคารต่างประเทศขยายสาขาในประเทศไทย

การเปิดใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Micro Finance ส่วนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อเป็นทางเลือกการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันของตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง นอกจากนี้ จะมี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.ต่อไป

3.ภาครัฐจะต้องมีการส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในระบบราชการ ต้องปรับปรุงบทบาทของภาครัฐมากขึ้น และการเพิ่มโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนแทนรัฐบาล(PPP) ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎระเบียบที่เอื้อให้เอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

นอกจากนี้ จะต้องมีการแก้ปัญหาความคุ้มค่าของการใช้ทรัพย์สินของรัฐบาล เช่น กรณีสนามบินแห่งชาติที่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ 2 สนามบินทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ หรือ กรณีของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะมีความชัดเจนใน 2 สัปดาห์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบราง การโทรคมนาคมระบบ 3G เป็นการบริหารทรัพย์สินรัฐบาล และปกป้องสัญญาสัมปทานของรัฐ

และสุดท้าย จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง ไม่เฉพาะแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ