พาณิชย์วางยุทธศาสตร์การค้าสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 18, 2009 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์กำหนด 7 ยุทธศาสตร์การค้าเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายการผลักดันเพิ่มสัดส่วนของเศรษฐกิจในประเทศเป็น 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)ภายในปี 58 จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 30% ของ GDP หวังลดพึ่งพาการส่งออกเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหากเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน

"เพื่อสร้างความมั่นคงบนรากฐานเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแรงด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง และเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เป็น 40% ของจีดีพีภายใน 5 ปีนับจากนี้หรือภายในปี 57 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 30% ของจีดีพี ขณะที่พึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% และทำให้เป็น 50 ต่อ 50 ในปี 58 เพื่อลดผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย แต่ไม่ใช่จะลดความสำคัญของการส่งออก เรายังคงต้องผลักดันการส่งออกต่อไป" นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าว

สำหรับ 7 ยุทธศาสตร์การค้า ประกอบด้วย 1.การปรับโครงสร้างการผลิตภายในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ โดยเน้นการบริหารจัดการและมีผู้ดูแลรายสินค้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2.พัฒนาระบบตลาดและขยายช่องทางการค้า เน้นส่งเสริมพัฒนาและสร้างตลาดใหม่ เร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 3.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการทุกระดับให้เป็นธุรกิจไทยเข้มแข็ง

4.สนับสนุนให้องค์ประกอบ(ปัจจัยสนับสนุน) ทางการค้า เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาการค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น ความคล่องตัวทางการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน 5.เสริมสร้างพาณิชย์ภูมิปัญญา ที่มีนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิปัญหาท้องถิ่น 6.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการค้าภูมิภาคและค้าชายแดน และ 7.พัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์จัดทำจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้อีก 10% ในปีหน้า และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้อีก 0.1-0.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 1-2 แสนล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการบนพื้นฐานเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบอ่อนๆ หรือขยายตัว 2-3% โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรปจะโต 2% ส่วนจีนโต 9% ขณะที่ราคาน้ำมันและค่าเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก แต่ไม่ได้รวมถึงปัจจัยทางการเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ