ข้าวพันธุ์ปราจีนบุรี 2 ได้รับการคุ้มครองพันธุ์จากสหรัฐและเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2009 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าข้าวพันธุ์ปราจีนบุรี 2 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 18-25 ธันวาคม จากการปรับปรุงพันธุ์ของคณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยาและศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้รับการคุ้มครองพันธุ์จากประเทศสหรัฐและเวียดนาม

สำหรับการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์นั้น กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ได้จ้างบริษัท บริหารสำนักกฎหมาย จำกัด เป็นตัวแทนจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ข้าวปราจีนบุรี 2 ในสหภาพยุโรป เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2547-2550 โดยได้รับเงินจากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และเงินงบประมาณปี 2550 จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการจ้างต่อ

ดังนั้น จึงทำให้ข้าวพันธุ์ปราจีนบุรี 2 ยังคงได้รับการคุ้มครองตามหนังสือสำคัญหมายเลข 200500240 ซึ่งออกโดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชแห่งสหรัฐอเมริกา นาน 20 ปี นับจากได้ยื่นขอจดทะเบียนคุ้มครองข้าวพันธุ์ปราจีนบุรี 2 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และสาธารณรัฐเวียดนามก็ได้ให้การคุ้มครองตามหนังสือหมายเลข 19.VN 2009 เป็นเวลา 20 ปี นับจากวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548

ส่วนในสหภาพยุโรป กรมวิชาการเกษตรได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชสหภาพยุโรป (CPVO) ได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ผลการปลูกทดสอบข้าวพันธุ์ปราจีนบุรี 2 ไม่สามารถออกดอกได้ จึงต้องประสานนำผลการปลูกในประเทศเวียดนามมาประกอบการพิจารณาต่อไป

ข้าวพันธุ์ปราจีนบุรี 2 เป็นข้าวที่มีลักษณะเด่นคือ เป็นข้าวนาน้ำลึก ต้นเตี้ย(สูงประมาณ 133 เซนติเมตร) ฟางแข็ง ไม่ล้มง่ายในสภาพนาระดับน้ำปกติ (ประมาณ 25 เซนติเมตร) ให้ผลผลิต 846 กิโลกรัมต่อไร่ แต่สามารถยืดปล้องและทนน้ำท่วมได้ปานกลางในระดับน้ำลึก (50-100 เซนติเมตร) ให้ผลผลิต 590 กิโลกรัมต่อไร่ ถือเป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ข้าวนาน้ำลึกในภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในช่วงอายุข้าว 30-40 วัน ระดับน้ำไม่เกิน 100 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อได้รับการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ในประเทศใด หากประเทศอื่นๆ หรือบริษัทใด จะนำเข้าข้าวไทยพันธุ์ดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการค้า จะต้องขออนุญาตจากประเทศไทยก่อน จึงดำเนินการต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ