ก.เกษตรฯ-พลังงาน-อุตสาหกรรม ผนึกความร่วมมือจัดโซนนิ่งพืชพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2009 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามความร่วมมือ MoU บูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่ออาหาร พลังงานและอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า หลังการลงนามในความร่วมมือวันนี้ทั้ง 3 กระทรวงจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทน 3 กระทรวง ภาคเกษตรกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือตัวแทนบริษัทเอกชน เช่น กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน อาทิ บมจ.ปตท.(PTT) เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อหารือถึงการวางนโยบาย และกำหนดทิศทางการดำเนินงานและเป้าหมายที่ชัดเจน

เนื่องจากที่ผ่านมาการแบ่งโซนนิ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจมีการทำมานานแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเกษตรกรจะเน้นปลูกพืชตามราคา แต่จากนี้จะมีการแบ่งโซนนิ่งชัดเจน หรือควรจะปลูกใกล้โรงงานพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องหารือแนวทางปฎิบัติให้ชัดเจน คาดว่าคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมานี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในต้นปีหน้า โดยจะเริ่มโซนนิ่งจากสินค้ามันสำปะหลังเป็นตัวแรกก่อน

ด้านนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจ เป็นเรื่องจำเป็นเพราะเชื่อว่าอีก 15 ปีนับจากนี้ พลังงานที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะน้อยลงเรื่อยๆ และราคาจะแพงมากขึ้น ทำให้มีความยากลำบากในการจัดหา ดังนั้น ถ้าหากเราเริ่มวางแผนนโยบายพลังงานทดแทนตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเท่าที่มองดู นอกจากมันสำปะหลัง อ้อย และ กากน้ำตาลที่สามารถนำมาผลิตเอทานอล ไบโอดีเซลได้แล้ว ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตพลังงานทดแทนได้อีก เช่น สาหร่าย ไฮโดรเจน หรือ เซลลูโลส รวมถึงสบู่ดำ ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการค้นคว้า

นายพรชัย กล่าวว่า หลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าสุดตัวเรื่องการสนับสนุนการใช้ E85 แทนเบนซิน รวมถึงจะมีการสนับสนุนการใช้ B5 B2

"ตอนนี้กระทรวงพลังงานเดินหน้าเรื่องพลังงานทดแทนมาเยอะแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องหาคนมาช่วยเรื่องการเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนรวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากสินค้าเกษตรมีข้อจำกัดในเรื่องการจัดเก็บรักษา จึงต้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาช่วย โดยจะมีมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เป็นตัวกลางช่วยประสานงาน" นายพรชัย กล่าว

จากตัวเลข ณ เดือน พ.ย.52 มีโรงงานผลิตเอทานอล 17 แห่ง รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2.58 ล้านลิตร/วัน คาดว่าปี 52 และ 53 จะมีโรงงานใหม่ที่สร้างเสร็จพร้อมเดินเครื่องอีก 5 ราย กำลังผลิต 2.27 ล้านลิตร/วัน เท่ากับปลายปี 53 จะมีกำลังผลิตเอทานอลรวมทั้งสิ้น 4.85 ล้านลิตร/วัน

ขณะที่ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 53 จะเพิ่มเป็น 2.11 ล้านลิตร/วัน จากปี 52 ที่มีความต้องการใช้เอทานอล 1.34 ล้านลิตร/วัน, ปี 54 มีความต้องการใช้ 2.96 ล้านลิตร/วัน, ปี 59 ความต้องการใช้ 6.2 ล้านลิตร/วัน และ ปี 65 จะเพิ่มเป็น 9 ล้านลิตร/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ