เกาหลีใต้ยกเลิกมาตรการตรวจเข้มกุ้งไทยหลังสุ่มตรวจไม่พบสารตกค้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2010 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า หลังจากหน่วยงาน National Fisheries Products Quality Inspection Service (NFPQIS) ของประเทศเกาหลีใต้ได้ตรวจพบสารปฏิชีวนะตกค้างในสินค้าประมงที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงได้ออกมาตรการตรวจสอบสินค้าจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาะซีเชลล์ และไทย โดยวิธีสุ่มตรวจสินค้ากุ้งแช่เย็นและกุ้งแช่แข็ง เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม — 31 ธันวาคม 2552 ปรากฎว่าไม่พบสารตกค้างในสินค้ากุ้งจากไทย แต่ยังตรวจพบสารตกค้างในสินค้าจากบางประเทศ ทางการเกาหลีใต้จึงได้ออกประกาศใช้มาตรการตรวจสินค้าอาหารทะเลนำเข้าจาก 8 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย โคลัมเบีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นระยะเวลา 6 เดือนของปี 2553 (มกราคม-มิถุนายน) ซึ่งไม่มีรายชื่อประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ในขณะที่สินค้ากุ้งแช่แข็งจากเวียดนามและจีนซึ่งเป็นคู่แข่งของไทยยังคงถูกตรวจสอบเข้มอยู่

เรื่องดังกล่าวจึงเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยไปตลาดเกาหลีใต้ ประกอบกับ FTA ASEAN-KOREA ในกรณีของไทย จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 จะทำให้สินค้ากุ้งไทยมีศักยภาพและสามารถแข่งขันในตลาดเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยภาษีนำเข้ากุ้งแช่แข็ง ปริมาณไม่เกิน 5,000 ตัน ร้อยละ 0 หากเกินกว่านั้น ร้อยละ 13 กุ้งแช่เย็นปริมาณไม่เกิน 300 ตัน ภาษีนำเข้าร้อยละ 0 และหากเกินกว่านั้นจะเก็บร้อยละ 13

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ ปริมาณ 364,350 ตัน มูลค่า 85,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.54 และ 10.95 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่งออกไปสหรัฐฯมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 172,433 ตัน มูลค่า 42,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.39 และ 6.47 รองลงไปญี่ปุ่น ปริมาณ 64,367 ตัน มูลค่า 17,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.44 และ 16.45 สหภาพยุโรป ปริมาณ 49,452 ตัน มูลค่า 11,639 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.23 และ 29.25 และเกาหลีใต้ เป็นอันดับที่ 6 ปริมาณ 9,884 ตัน มูลค่า 1,815 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.77 และ 14.35 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ประเทศเกาหลีใต้นำเข้าสินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ทั้งหมดคิดเป็น ปริมาณ 86,435 ตัน มูลค่า 365.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 36,979 ตัน มูลค่า 93.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 25.53 อันดับที่ 2 คือ รัสเซีย ปริมาณ 12,862 ตัน มูลค่า 73.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 20.05 อันดับที่ 3 คือ เวียดนาม ปริมาณ 10,937 ตัน มูลค่า 63.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 17.34 และไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ปริมาณ 8,410 ตัน มูลค่า 44.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 12.27


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ