กรมชลฯ เตือนอย่าทำนาปรังเพิ่มแม้ได้ราคาดี เตือนใช้น้ำอย่างประหยัด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2010 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำในปัจจุบันพบว่ายังอยู่ในวิสัยที่พอจะควบคุมให้เป็นไปตามแผนการใช้น้ำได้ แต่ต้องเฝ้าระมัดระวังอย่างมาก เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าปีก่อน

ตามรอบฤดูแล้งนี้(ตั้งแต่ 1 พ.ย.52)สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 34,500 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 70% ของความจุอ่างฯ น้อยกว่าปีที่ผ่านมากว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น กรมฯ จึงวางแผนการใช้น้ำเป็น 27,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรให้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค เป็นลำดับแรก ส่วนการเกษตรได้รับจัดสรรน้ำไว้ จำนวน 13,000 ล้านลุกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำในปีนี้ในภาพรวมจะมีน้ำน้อยกว่าช่วงฤดูฝนปี 51 ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นน้ำที่จัดสรรให้พื้นที่การเกษตรในปีนี้ จำนวน 15.9 ล้านไร่

นอกจากนั้น กรมฯ ยังมีความเป็นห่วงในส่วนของภาคการเกษตร เนื่องจากคาดการณ์ว่าพืชผลการเกษตรจะมีราคาดีขึ้น ทำให้เกษตรกรอยากปลูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ทำให้ต้องกำหนดเงื่อนไขว่าขอให้ทำนาปรังเพียงครั้งเดียว ส่วนครั้งที่ 2 ขอให้งดหรือหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพราะถ้าไม่ร่วมมือกันประหยัดน้ำจะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้

ด้านศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 52/53 ในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศว่า หลังจากที่ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้รวมกันทั้งหมด 11.92 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ณ 29 ม.ค. 53) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งหมด เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 5.54 ล้านไร่ ขณะนี้ได้มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.64 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 102 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งวางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ และการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีกส่วนหนึ่ง รวมกันเป็นจำนวน 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นั้น ปัจจุบัน(2 ก.พ.53) มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,007 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนจัดสรรน้ำทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งที่เหลืออีกประมาณ 3 เดือน จำนวน 2,993 ล้านลูกบาศก์ หากการใช้น้ำไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ