ไทย-ญี่ปุ่นร่วมมือพัฒนาเชิงรุก SME 5 ด้าน,หวัง 26 ก.พ.ไม่มีเหตุรุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2010 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม แถลงข่าวความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 120 ปีของการสถาปนาทางการทูตของทั้งสองประเทศ รวมถึงลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปป้า) ว่า ทั้งสองประเทศได้ตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่นขึ้น โดยเน้นร่วมมือกันพัฒนาเอสเอ็มอีไทยเชิงรุกใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ร่วมมือในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต พัฒนาการใช้พลังงานเพื่ออุตสาหกรรม การขยายช่องทางการตลาดของเอสเอ็มอี และความร่วมมือในการแก้ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนนโยบายดีทรอยท์แห่งเอเชียของไทย ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลก มีเป้าหมายร่วมฝึกอบรมในเวลา 10 ปีนับจากนี้ โดยจะผลิตผู้ฝึกสอน 1,000 ราย และบุคลากร 255,000 ราย

สำหรับการพิจารณาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ นายชาญชัย กล่าวว่า จากการเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ นักลงทุนส่วนใหญ่เป็นห่วงและสอบถามถึงสถานการณ์การเมืองของไทย ซึ่งได้ชี้แจงและยอมรับว่า การเมืองไทยยังไม่มีความแน่นอน และกลายเป็นวัฒนธรรมที่คนไทยคุ้นเคยไปแล้ว

พร้อมยืนยันด้วยว่า การทำธุรกิจในประเทศไทยแยกออกจากการเมืองชัดเจน ทำให้นักลงทุนต่างชาติเมื่อได้รับฟังข้อมูลแล้ว เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เห็นได้จากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 ที่สูงถึง 720,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 400,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากการชุมนุมทางการเมือง หลังการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่มีความรุนแรงถึงขั้นมีการปิดสนามบิน หรือลอบวางระเบิด ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

"จะไม่เกิดการชุมนุมในลักษณะที่เป็นการกดดันการตัดสินคดีของศาล แต่น่าจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นตามมาหลังการตัดสินคดี" นายชาญชัย กล่าว

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงยังคงเป้าหมายการยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 500,000 ล้านบาท

ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.5-4.5 จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตสูงถึงร้อยละ 7-8 ขณะที่เอสเอ็มอีไทย ภาพรวมจะขยายตัวร้อยละ 5 โดยสถานะการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีไทยจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะกำลังซื้อที่เติบโตขึ้น ตามความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีมากขึ้น เอสเอ็มอี จึงมีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีเอสเอ็มอีบางส่วนที่ไม่ปรับตัว ยอมรับว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ส่วนเป้าหมายการสร้างเอสเอ็มอีรายใหม่ ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันจะสร้างผู้ประกอบการที่เน้นเจาะลึกตามความถนัดเป็นรายธุรกิจมากขึ้น คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเกิดใหม่ จะอยู่รอดได้ประมาณร้อยละ 15-18


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ