ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดภัยแล้งปี 53 กระทบจีดีพี 0.06% ภาคเกษตรเสียหาย 6 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2010 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 53 ถ้าพิจารณาในภาพรวมแล้วจะไม่กระทบมากนัก โดยประเมินว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณร้อยละ 0.06 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่จะมีผลกระทบรุนแรงที่สุดในภาคเกษตรในรอบ 5 ปี คาดมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท และกระทบกับการท่องเที่ยวในช่วงมี.ค.-เม.ย.นี้ราว 2 พันล้านบาท

การประเมินความเสียหายในภาคเกษตรยอิงการคำนวณความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง และปรากฎการณ์เอลนินโญ่ที่เคยเกิดขึ้นในปี 40-41 และปี 47-48 ซึ่งเป็นการแยกคำนวณเป็นรายพืชจากข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่เสียหายคูณด้วยผลผลิตเฉลี่ยของแต่ละพืช และคูณด้วยราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ของแต่ละพืช จากการที่ราคาเฉลี่ยสินค้าเกษตรในปี 53 อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า

ส่วนใหญ่พืชที่เสียหายคือ ข้าวนาปรังที่อยู่นอกเขตชลประทาน แม้ว่ารัฐบาลจะรณรงค์ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง แต่คาดว่าจะไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากเป็นมาตรการในเชิงขอความร่วมมือ และรัฐบาลยังคงมีมาตรการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้คาดว่าชาวนายังคงจะปลูกข้าวนาปรัง โดยบางส่วนคงหันไปพึ่งพิงน้ำบาดาลในการปลูกข้าว

จากรายงานการสำรวจการปลูกพืชฤดูแล้งในปีนี้ของกระทรวงเกษตรฯพบว่า เกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มทำนาปรังอย่างต่อเนื่อง และเกินกว่าแผนที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 17 ซึ่งจากการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกพืชหน้าแล้งทั่วประเทศไว้จำนวน 12.28 ล้านไร่ โดยแยกเป็นข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.78 ล้านไร่ แต่จากการสำรวจพบว่าการเพาะปลูกพืชหน้าแล้งในปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 15.16 ล้านไร่ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 23.5 ทั้งนี้เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรเสี่ยงที่จะขยายพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้ง

ประเด็นที่จะต้องระวังคือ ปัญหาการพิพาทกันในเรื่องการแย่งน้ำ ทั้งระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในบางพื้นที่ รวมทั้งปัญหาในเรื่องที่ชาวนาบางส่วนต้องซื้อน้ำหรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อไม่ให้ข้าวที่ปลูกไปแล้วเสียหาย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนี้ สินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น คือ ปศุสัตว์ และประมง กล่าวคือ โดยปกติในช่วงฤดูแล้งปริมาณความเสียหายต่อธุรกิจปศุสัตว์ประมาณร้อยละ 10.0 อันเป็นผลมาจากปศุสัตว์เจริญเติบโตช้า ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และบางส่วนก็ตายจากปัญหาอากาศร้อน ส่วนธุรกิจประมงที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้งมากที่สุด คือ ผู้เลี้ยงปลาในกระชังตามแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง และอากาศร้อนส่งผลทำให้ปลาเติบโตช้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ในระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพืชผัก ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ และปลาน้ำจืด นับเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค

กรณีพืชไร่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการพิจารณาถึงผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งนั้นต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมด้านอื่นๆประกอบด้วย โดยเฉพาะพืชไร่ที่พึ่งพิงตลาดส่งออก ต้องพิจารณาถึงความเสียหายของประเทศคู่แข่ง และความต้องการของประเทศคู่ค้าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด รวมถึงโอกาสที่จะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาชดเชยผลผลิตที่เสียหายจากปัญหาภัยแล้ง และปริมาณสต็อกของรัฐบาล

กรณีตัวอย่างคือ ข้าว ความเสียหายของข้าวนาปรังของไทยอาจไม่มีผลกระทบที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคาข้าวในตลาดโลก ถ้าประเทศคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะเวียดนามไม่เสียหายมากนัก และประเทศผู้ซื้อข้าวไม่ได้เร่งซื้อข้าวเพื่อเก็บเข้าสต็อก รวมทั้งปริมาณสต็อกข้าวของรัฐบาลที่อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งสามารถระบายสต็อกชดเชยปริมาณข้าวที่ลดลงได้ ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาข้าวไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองมีแนวโน้มลดลง ซึ่งราคาน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น

แต่ปัจจัยที่จะกดราคาไม่ให้พุ่งมากนัก คือ การส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะตลาดข้อตกลง และข้อผูกพันของเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ไทยลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ทำให้ไทยยังมีแหล่งสำรองของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์สูง อันเป็นผลมาจากผลผลิตลดลงอย่างมากจากปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง ซึ่งความเสียหายจากภัยแล้งจะซ้ำเติมให้ปริมาณผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงไปอีก แต่ไทยก็ยังสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากพม่าและกัมพูชาเข้ามาชดเชยได้ ซึ่งในปี 52 การนำเข้าจากทั้งสองแหล่งนี้มีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์สูง แม้ว่าปริมาณการนำเข้ายังมีปริมาณที่ไม่มากนัก

ยาง ความเสียหายจากภัยแล้งน่าจะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณการผลิตยางลดลงไปบ้าง โดยเฉพาะปริมาณการผลิตในภาคใต้ แต่ก็คาดว่าไม่น่าจะส่งผลให้ราคายางพุ่งขึ้นไปมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากคาดว่าปริมาณการผลิตยางในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการยางจากจีนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยผู้นำเข้าเริ่มชะลอเพื่อรอช่วงกลางปีที่ผลผลิตยางจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น

ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตอาจลดลงบ้างจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะผลผลิตทางภาคใต้ แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลให้ราคาพุ่งมากนัก เนื่องจากคาดว่าผลผลิตจากภาคตะวันออกสามารถชดเชยได้บางส่วน รวมทั้งผลจากเขตการค้าเสรีอาฟตา ทำให้ไทยสามารถพิจารณานำเข้าน้ำมันปาล์มจากทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้ามาชดเชยได้ ในกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ

แต่ถ้าพิจารณาผลกระทบของปัญหาภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ หรือผลผลิตแต่ละชนิดแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกัน เนื่องจากมีภาวะตลาดและสถานการณ์ด้านราคาที่อาจแตกต่างกันไป ส่งผลให้ความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรแต่ละรายไม่เท่ากัน ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันจากไฟป่าที่มีแนวโน้มรุนแรงในปีนี้ อันเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้ง โดยประเมินว่ามีโอกาสที่จะสูญเสียเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 20.0 จากที่เคยมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือจะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ