"เบอร์นันเก้"หวั่นอัตราว่างงานยังสูงอาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 8, 2010 09:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในที่ประชุมที่เมืองดัลลัส ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวขึ้น และวิกฤตการณ์การเงินก็เริ่มผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังเผชิญกับปัญหาท้าทายอีกมาก รวมถึงอัตราว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

"มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นอีก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเรายังอยู่ห่างไกลจากคำว่า "หลุดพ้นจากปัญหาใหญ่" เนื่องจากอัตราว่างงานยังอยู่ที่ระดับสูง ขณะที่ตัวเลขบ้านที่ถูกยึดยังคงปรับตัวสูงขึ้น และภาคบริการในรัฐใหญ่ๆ ยังคงซบเซา สถานการณ์เหล่านี้อาจจะเหนี่ยวรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจได้" เบอร์นันเก้กล่าว

เบอร์นันเก้ยังกล่าวด้วยว่า แม้ระบบการเงินของสหรัฐเริ่มกลับมาเดินหน้าได้ตามปกติ หรือ อาจจะใกล้เคียงกับปกติ แต่อัตราการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ยังคงอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กด้อยประสิทธิภาพในการขยายธุรกิจและการจ้างงานใหม่ๆ นอกจากนี้ อัตราว่างงานที่ระดับ 9.7% ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 และเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย

"แม้ตัวเลขการเลย์ออฟพนักงานในภาคเอกชนลดน้อยลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ตัวเลขการจ้างงานยังอ่อนแอมาก เพราะมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า กว่า 40% ของผู้ที่ถูกเลย์ออฟยังคงหางานทำไม่ได้เป็นเวลา 6 เดือนหรืออาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น สถิติดังกล่าวสูงกว่าในปีที่แล้วเกือบสองเท่า ซึ่งผมกังวลเรื่องตลาดแรงงานมาก เพราะหากอัตราว่างงานยืนอยู่ในระดับสูงนานเกินไป ก็จะส่งผลบั่นทอนทักษะการทำงานของพนักงานและจะยิ่งทำให้รายได้ระยะยาวปรับตัวลดลงด้วย" เบอร์นันเก้กล่าว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ที่ระดับ 0 - 0.25% และยืนยันว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะตรึงดอกเบี้ยต่อไปอีกจนถึงปลายปีนี้

เบอร์นันเก้ให้เหตุผลของการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอัตราว่างงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ