นายกฯส.ชาวนาพอใจราคาข้าวอ้างอิงใหม่ช่วยคนส่วนใหญ่ ห่วงเพลี้ยระบาดขยายวง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 27, 2010 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกสมาคมชาวนาไทย พอใจราคาอ้างอิงใหม่ที่ทางคณะกรรมการนโยบายข้างแห่งชาติ (กขช.)ได้มีมติวานนี้ เพราะสามารถช่วยชดเชยรายได้ให้เกษตรกรส่วนใหญ่ แม้ว่าจะแก้ปัญหาไม่ครบทุกพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวก็ตาม พร้อมระบุรัฐเร่งหามาตรการดำเนินการในการแก้ปัญหา โดยไม่ต้องออกมาประชาสัมพันธ์ก่อน เพราะมีผลต่อราคาข้าวในประเทศ พร้อมมองปัญหาเพลี้ยกระโดด รวมถึงภัยแล้ง จะมีผลทำให้ผลผลิตใหม่ลดลงเหลือราวๆ 8 ล้านตัน

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับมาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจของชาวนาทุกคน และมองว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้อย่างดี

"ตอนนี้เรารู้สึกใจพอใจกับมาตรการที่ กขช.มีมติออกมาเมื่อวานนี้แล้ว และเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้อยู่แล้ว เพราะราคาชดเชยคราวที่แล้ว 800 กว่าบาท มันได้ไม่ครบ 1 หมื่นก็ต้องโวย เพราะไม่ใช่ความผิดของชาวนา แต่คราวนี้ที่จะที่ประกาศราคาอ้างอิงใกล้ราคาตลาดที่ 7,200 บาท/ตัน ซึ่งใกล้เคียงราคาตลาดที่ 7,000 บาท และชดเชยตันละ 2,800 บาท ก็ถือว่าน่าพอใจ และจากนี้จะไม่มีการประท้วงเรียกร้องอีก"นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าว

วานนี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้ใช้เกณฑ์ราคาอ้างอิงข้าวภายในโครงการประกันรายได้เกษตรกรโดยให้ยึดราคาตลาดย้อนหลัง 7 วันเท่านั้น ส่งผลให้ราคาอ้างอิงรอบวันที่ 26 เม.ย.-2 พ.ค.2553 ข้าวเปลือก ความชื้น 15% (รอบที่ 1) ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,210 บาท ชดเชยตันละ 2,790 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 9,292 บาท ชดเชย 708 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 11,106 บาทไม่ต้องชดเชย ข้าวเปลือก ความชื้น 15% (รอบที่ 2) ข้าวเปลือกเจ้า 7,210 บาท ชดเชย 2,790 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 9,292 บาท ชดเชย 1,708 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 11,106 บาท ไม่ต้องชดเชย

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาอาจไม่เป็นที่พอใจของชาวนาในบางพื้นที่นั้น เช่น ชาวนาภาคใต้ที่ราคาข้าวทางภาคใต้ต่ำกว่าทางภาคกลางมาก ขายได้ราคาไม่ถึง 7 พันบาท/ตันนั้น ก็ต้องมาดูกันว่าสาเหตุที่ราคาข้าวทางภาคใต้ตกต่ำกว่าทางภาคกลางนั้นเป็นเพราะอะไร ความชื้นมากกว่าข้าวทางภาคกลางเนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีฝนตกบ่อย และจำนวนโรงสีรับซื้อข้าวก็น้อยกว่า

"ต้องมาดูกันก่อนว่าที่ราคาข้าวทางใต้ตกต่ำกว่าภาคกลางหรือภาคอื่นๆนั้นเป็นเพราะอะไร ความชื้นมีมากกว่า เพราะฝนตกบ่อยมั้ย โรงสีก็น้อยกว่า ส่วนมาตรการที่ กขช.มีมติออกมา ผมเชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาให้กับชาวนาส่วนใหญ่ได้แน่นอน แต่จะให้ถูกใจทุกคนเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าออกมาประท้วงกันอีกก็ไม่จบ"นายประสิทธิ์ กล่าว

นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนาในประเทศไทยมีทั้งหมด 37 ล้านครัวเรือน ประมาณ 19 ล้านคน ปริมาณผลผลิตใหม่ทั้งประเทศปีละประมาณ 10 ล้านตัน แต่พื้นที่ปลูกข้าวทางภาคใต้มีเพียง 3-4 จังหวัดเท่านั้น ปริมาณข้าวประมาณ 1 ล้านกว่าตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวนาทางภาคใต้เชื่อว่าทางรัฐบาลก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย มีการตรวจสอบปัญหาและพยายามหาแนวทางช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ในส่วนของสมาคมก็เคยรายงานปัญหาของภาคใต้ให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีทราบแล้วว่าปัญหามีอะไรบ้าง ก็ได้สั่งการให้ตรวจสอบและดูแลช่วยเหลืออยู่เรื่อยๆ เช่น ล่าสุด อคส.ก็เพิ่มจุดตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวแล้ว เพราะโรงสีน้อย แต่ปัญหาอื่นๆ ก็ต้องค่อยแก้ไขกันไป

"ยืนยันว่าไม่มีการทอดทิ้งกันหรอก ปัญหาอะไรที่ไหนก็พยายามแก้ไขดูแลกันอยู่เรื่อยๆ"นายกสมาคมชาวนาไทยกล่าว

*ปัญหาเพลี้ยกระโดดยังไม่หมดแถมขยายวงกว้าง

นายประสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่า ยังระบาดไม่หยุด แถมมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย จากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตัวเลขการระบาดอยู่ที่ 2 แสนกว่าไร่ ล่าสุดเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวเลขกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 1 ล้านไร่อีกแล้ว ปัญหาเกิดจากยังมีการลักลอบทำนาปรังรอบ 2 กันอยู่

"เพลี้ยกระโดดตอนนี้เพิ่มขึ้น ถามรัฐมนตรีบอกว่าตอนที่ปราบหนักๆช่วงก่อนหน้านี้เหลือ 2 แสนไร่ เป็นตัวเลขเมื่อตอนต้นเดือนมีนาคม แต่ตอนนี้มันเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ล้านไร่เมื่อกลางเดือนเมษานี่เอง รัฐมนตรีก็บอกหนักใจเหมือนกันที่เพิ่มขึ้นมา และใครก็แก้ยาก เพราะชาวนาทำนากันไม่หยุด เพลี้ยพอมีอาหารกินตลอด ยิ่งอากาศแบบนี้เจริญเติบโตไวมาก ข้าวกำลังโตกำลังหวาน เพลี้ยจะลงเร็วมาก ก็ยังต้องเดินหน้าแก้ไขกันไปเรื่อยๆ"

ทั้งนี้ ปัญหาเพลี้ยกระโดด รวมถึงภัยแล้งอาจจะมีผลทำให้ผลผลิตใหม่ลดลงบ้างน่าจะเหลือราวๆ 8 ล้านตัน แต่เนื่องจากปริมาณข้าวในประเทศทั้งผลผลิตใหม่จากนาปีนาปรัง ข้าวในสต็อกรัฐบาลประมาณ 5-6 ล้านตัน และกระจายอยู่ตามโรงสีต่างอีก รวมๆ แล้วปริมาณข้าวในประเทศตอนนี้มีอยู่ราวๆ 14 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องพยายามหาแนวทางการระบายข้าวออกมาเพื่อไม่ให้ราคาตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาขายข้าวกับต่างประเทศแบบจีทูจี หรือหาผู้ซื้อ

"แต่ว่าถ้าจะทำก็ทำเลยไม่ต้องออกมาประชาสัมพันธ์ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันจะมีผลต่อราคาข้าวในประเทศ"นายกสมาคมชาวนาไทยกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ