ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรดิ่งเหว จากข่าวเยอรมนีเตรียมห้ามทำ naked short selling

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 19, 2010 07:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรดิ่งลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลเยอรมนีเตรียมออกคำสั่งห้ามทำชอร์ตเซลสำหรับหุ้นที่ยังไม่มีการกู้ยืมมาก่อน (naked short-selling) ซึ่งข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกและทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินยูโร

ค่าเงินยูโรดิ่งลง 1.46% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2212 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.2393 ยูโร/ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลง 0.95% มาอยู่ที่ระดับ 1.4338 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.4476 ปอนด์/ดอลลาร์

ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง 0.29% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 92.310 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 92.580 เยน/ดอลลาร์ และพุ่งขึ้น 1.39% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.1464 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1307 ฟรังค์/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 1.40% สู่ระดับ 0.8647 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8770 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.50% แตะที่ 0.6936 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6971 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ค่าเงินยูโรดิ่งลงอย่างหนักเนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนกกับข่าวที่ว่า รัฐบาลเยอรมนีเตรียมออกคำสั่งห้ามทำชอร์ตเซลสำหรับหุ้นที่ยังไม่มีการกู้ยืมมาก่อน หรือที่เรียกกว่า naked short-selling เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน เนื่องจากการทำ naked short selling เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2551 ซึ่งในครั้งนั้นรัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย ได้ประกาศห้ามทำ naked short selling ก่อนที่จะมีการยกเลิกคำสั่งในช่วงหลายเดือนต่อมา

คำสั่งห้ามทำ naked short selling ของเยอรมนีครอบคลุมถึงตราสารหนี้สกุลเงินยูโรที่มีความเสี่ยงสูง ตราสาร credit default swap (CDS) สกุลเงินยูโร และหุ้นของ 10 บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี

ค่าเงินยูโรได้แรงหนุนชั่วระยะเวลาสั้นๆ หลังจากมีรายงานว่าสหภาพยุโรป (อียู) ได้โอนเงินกู้ฉุกเฉินล็อตแรกให้กับกรีซแล้วเมื่อวานนี้ ก่อนที่พันธบัตรมูลค่า 8.5 พันล้านยูโร หรือ 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ของกรีซจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันพุธที่ 19 พ.ค.

ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีหลักที่ใช้วัดภาวะเงินเฟ้อ แตะระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน ที่ 3.7% ในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.4% ในเดือนมี.ค.

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไป เดือนเม.ย.ปรับตัวลดลง 0.1% ทำสถิติลดลงเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 3 เดือน หลังจากราคาอาหารและพลังงานร่วงลง ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 0.2% มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ